กรมชลฯ เดินหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัย เขตตัวเมืองชัยภูมิ แก้น้ำท่วม-ภัยแล้ง ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตกร

ท่ามกลางสถานการณ์ฝนถล่มจากผลกระทบของพายุลูกแล้วลูกเล่า ทำให้ปีนี้คนไทยต้องเผชิญกับฝนชุกที่มีอย่างต่อเนื่อง จ.ชัยภูมิ เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในเขตตัวเมือง

เนื่องจาก อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบน มีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา ทำให้ฤดูฝนมักมีน้ำหลากจากภูเขาลงมา โดยไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดอุทกภัยเป็นประจำ โดยเฉพาะเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ

กรมชลประทาน จึงเดินหน้าแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ของเมืองชัยภูมิ ด้วยโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ ระยะที่ 1 เพิ่มศักยภาพการผันน้ำ เพิ่มประตูระบายน้ำ(ปตร.) เพื่อยกระดับการแก้ปัญหาน้ำท่วมตัวเมือง

นายพงศ์กรณ์ กำแหง ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลาง ที่ 6 กรมชลประทาน เผยว่า อ.เมือง จ.ชัยภูมิ เป็นพื้นที่น้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง ทั้งจากน้ำหลากมาจากลำน้ำที่อยู่ตามเทือกเขาโดยรอบ และเกิดจากฝนตกหนักสะสมในพื้นที่

โดยเฉพาะเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ที่มีลักษณะเป็นแอ่งรับน้ำ จึงมักถูกน้ำท่วมขังในพื้นที่ประมาณ 30,000 ไร่ หรือร้อยละ 90 ของพื้นที่อำเภอเมืองชัยภูมิ โดยเฉพาะปี พ.ศ.2553 น้ำจากลุ่มน้ำลำปะทาวและห้วยยางบ่า ล้นตลิ่งเข้าท่วมเขตเทศบาลระดับน้ำสูงสุดประมาณ 1.20 เมตร ส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตอย่างประเมินไม่ได้








Advertisement

กรมชลประทานได้ศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำจากลำปะทาวและห้วยยางบ่า พบว่าน้ำไหลผ่านตัวเมืองชัยภูมิประมาณ 325 ลบ.ม./วินาที แต่มีศักยภาพการระบายได้ได้เพียง 145 ลบ.ม./วินาที จึงมีแนวทางแก้ปัญหาออกเป็น 4 ระยะ

ระยะที่ 1. ก่อสร้างระบบผันน้ำลำปะทาวฝั่งตะวันออก เพื่อตัดมวลน้ำหลากเลี่ยงเมืองด้านฝั่งตะวันออก ให้ได้ 200 ลบ.ม./วินาที เหลือปริมาณน้ำไหลผ่านตัวเมือง 125 ลบ.ม./วินาที

ระยะที่ 2. พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ เพื่อชะลอน้ำหลาก ให้อยู่ในปริมาณที่บริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้น

ระยะที่ 3. ก่อสร้างระบบผันน้ำห้วยยางบ่า-ลำชีลอง เพื่อตัดมวลน้ำหลากเลี่ยงเมืองด้านฝั่งตะวันตก

ระยะที่ 4. เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำหลาก ให้ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำชีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กรมชลประทานได้รับอนุมัติให้ดำเนินการระยะที่ 1 ก่อน คือ โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ ระยะที่ 1 ประกอบด้วย การขุดขยายคลองผันน้ำลำปะทาว ถึงแก้มลิงสระเทวดา ยาว 8.45 กิโลเมตร จะระบายน้ำได้ 150 ลบ.ม./วินาที พร้อมด้วยประตูระบายน้ำ 3 แห่ง การขุดขยายคลองเชื่อมลำปะทาว –ห้วยดินแดง ยาว 1.33 กิโลเมตร และปรับปรุงคลองเดิมให้ระบายน้ำได้ 50 ลบ.ม./วินาที พร้อมประตูระบายน้ำ 1 แห่ง และสร้างประตูระบายน้ำและอาคารประกอบ ในลำน้ำเดิมอีก 6 แห่ง

โครงการระยะที่ 1 ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล ของ อ.เมือง จ.ชัยภูมิ คือ ต.บ้านเล่า ต.โพนทอง ต.กุดตุ้ม ต.บุ่งคล้า และ ต.หนองไผ่ การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 25 มีแผนงานที่แล้วเสร็จสมบูรณ์ 4 แห่ง คือ ปตร.กุดสว่าง, ปตร.ห้วยเสียว, พนังกั้นน้ำกุดสวง-ห้วยเสียว และปตร.ห้วยดินแดง

โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิไม่เพียงช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมตัวเมือง ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญเท่านั้น ยังสร้างประโยชน์ให้พื้นที่เกษตรกรรมที่เป็นอาชีพของคนในพื้นที่ด้วย การออกแบบทั้งระบบคลอง และประตูระบายน้ำ เพื่อควบคุมน้ำในลำปะทาว และลำห้วยสาขาต่างๆ จึงต้องคำนึงประโยชน์ของทุกฝ่าย

หากโครงการระยะที่ 1 แล้วเสร็จ นอกจากบรรเทาน้ำท่วมเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ยังช่วยพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝนได้อีก 18,610 ไร่ ฤดูแล้ง 1,850 ไร่ ลดพื้นที่ทางทิศใต้ของตัวเมืองที่จะเสียหายจากน้ำท่วมได้อีกปีละกว่า 2 หมื่นไร่ ทั้งนี้ แม้โครงการระยะ 1 จะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2562 ถึง พ.ศ.2567 แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิดส่งผลกระทบ ทำให้โครงการอาจล่าช้ากว่าแผนไปเสร็จในปี 2568

นายลือชา ดาศรี เกษตรกรบ้านโพธิ์ใหญ่ หมู่ 6 ต.บ้านเล่า อ.เมือง จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า ต.บ้านเล่า เป็นหนึ่งในชุมชนบนเขตลุ่มน้ำลำปะทาว ได้ใช้ประโยชน์จากลำปะทาวทำนาปีละครั้ง และทำสวนผสมผสาน ปลูกกล้วยน้ำว้า ทุเรียน ลำไย เงาะ อาโวคาโด ที่สำคัญคือ ฝรั่ง ซึ่งทดลองปลูกปีแรกได้ผลดีเกินคาด จนไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

“ผมหันมาทำการเกษตรเแบบผสมผสานช่วงที่กรมชลฯ เริ่มสร้างประตูระบายน้ำ ทำให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ่น และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ทำประตูระบายน้ำในลำปะทาวเพื่อหนุนให้น้ำสูงขึ้น จากนั้นจะไหลออกไปที่คลองขุดใหม่ เชื่อมลำปะทาวกับห้วยดินแดง คลองนี้ช่วยแบ่งน้ำออกจากลำปะทาว ให้ออกไปห้วยดินแดง โดยไม่ผ่านตัวเมืองชัยภูมิ ทำให้ปัญหาน้ำท่วมลดลง เกษตรกรสองฝั่งลำห้วยที่ขุดใหม่ก็ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำตลอดปี

ปกติผมทำนาอย่างเดียวและทำแค่ปีละครั้ง แต่หลังจากเจ้าหน้าที่มาขุดคลองและทำประตูระบายน้ำผมคุยกับครอบครัวเลยว่าเราจะทำสวนเกษตรแบบผสมผสาน เพราะจะมีน้ำใช้ได้ตลอดปีแล้ว เพราะประตูระบายน้ำจะกักน้ำไว้ให้เราใช้ประโยชน์ได้ด้วย” นายลือชา กล่าว

นายสุรัตน์ วรรณพงษ์ เกษตรกรหมู่ 5 ต.บ้านเล่า อ.เมือง จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า เดิมชาวนาที่นี่ทำนาได้ปีละครั้งตามฤดูฝน เพราะได้น้ำจากลำปะทาวที่ไหลผ่านเข้าเมือง แต่หลังจากมีการคลองขุดใหม่เป็นคลองเชื่อมลำปะทาว ไปห้วยดินแดง ส่วนตัวก็หวังว่าจะทำให้จากนี้ชาวนาทำนาปรังได้ด้วย เพราะน่าจะมีน้ำตลอดปี และยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกพืชสวนครัว และผลไม้ในสวน วางขายให้ผู้สัญจรผ่านไปมา อาทิ หน่อไม้สดไผ่กิมซุง กล้วยน้ำว้า ส้มโอ มะละกอ หรือพืชสวนครัว พริก ข่า ตะไคร้ ที่ปลูกเสริมในสวนครัว

“ส่วนเรื่องเงินชดเชยค่าเวนคืนที่ดิน ช่วงแรกหลายคนกังวลใจ แต่ตอนนี้ได้รับเงินชดเชยแล้ว และยังได้คลองที่มีน้ำไหลผ่านที่นา ส่วนคันคลองสองฝั่งก็เป็นถนนตัดใหม่ ทำให้สัญจรได้สะดวกกว่าเดิมอีก” นายสุรัตน์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน