ชาวสะเอียบ บวชป่าสักทอง-ย้ำค้าน เขื่อนแก่งเสือเต้น หลังถูก “ปลอดประสพ”ปล่อยของ ชาวบ้านเขื่อนภูมิพลโวย น้ำเอ่อสูงท่วมพื้นที่เกษตรไร้การเหลียวแล

วันที่ 9 ต.ค.65 ที่บริเวณดงสักงามป่าสักทอง แก่งเสือเต้น บ้านดอนชันสักทอง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ชาวบ้านสะเอียบ และเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 100 คน จัดพิธีสืบชะตาป่าสักทอง

นายณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา ประธานกลุ่มคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น กล่าวว่านักการเมืองและข้าราชการยังคงออกมาพูดถึงการสร้างแก่งเสือเต้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมอยู่เสมอ ทั้งๆที่เหตุผลดังกล่าวไม่เป็นความจริง ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เมื่อเกิดน้ำท่วม นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี ยังออกมาพูดถึงการผลักดันโครงการนี้ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกไม่สบายใจ เพราะพื้นที่นี้เป็นแหล่งป่าสักทอง หากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะทำให้ป่าสักทองกว่า 3 หมื่นไร่ต้องจมน้ำ

“การจัดงานครั้งนี้เราต้องการสะท้อนภาพให้พวกเขาเห็นว่าชาวบ้านรักและหวงแหนป่าผืนนี้ อย่าคิดมาสร้างเขื่อนแถวนี้ ถ้ายังดันทุรังอีกเราจะจัดพิธีเผาหุ่นและสาปแช่ง” นายณัฐปคัลภ์ กล่าว

ประธานกลุ่มคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น กล่าวอีกว่า ชาวบ้านยังเดินหน้าคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพราะโครงการนี้ยังบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนของกรมชลประทาน ดังนั้นในทุกๆโอกาสนักการเมืองและข้าราชการจะนำเสนอแผนนี้ ดังนั้นทางออกเดียวคือการผลักดันให้ดึงโครงการออกจากแผน โดยคณะรัฐมนตรีต้องเห็นชอบ จึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ชาวบ้านสบายใจ

ด้าน นายวันชัย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำที่หนุนจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลตอนนี้ ทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยน้ำในแม่น้ำปิงไหลเข้าและมีน้ำตามห้วยไหลลงมาเพิ่ม ทำให้ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเวลานี้เกือบถึงลำห้วยใกล้หมู่บ้าน และอาจเอ่อเข้าท่วมพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน ซึ่งปลูกพืชล้มลุก ข้าวโพด และทำสวนลำไย

หากน้ำขึ้นท่วมรวดเร็วแบบนี้คาดว่าสัปดาห์หน้าอาจจะท่วมพื้นที่เป็นบริมาณมาก ทำให้เกิดความกังวลใจของประชาชนชาว อ.ฮอด โดยเฉพาะเกี่ยวกับผลกระทบหากมีการก่อสร้างโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่เขื่อนภูมิพล (แนวผันน้ำยวม) หรือที่รู้จักกันในนาม โครงการผันน้ำยวม

“ตอนนี้แม้ยังไม่มีโครงการผันน้ำยวม พวกเราชาวแม่งูด และชาวฮอด ยังเดือดร้อนกับน้ำท่วมขนาดนี้ หากยังดึงดันทำให้เกิดโครงการผันน้ำยวม พวกเราคงเดือดร้อนมากกว่านี้ เวลานี้ชาวบ้านชุมชนใน อ.ฮอด ต่างตระหนักว่าชัดเจนว่าหากมีปริมาณน้ำมากทั้งในแม่น้ำปิง ในอ่างเก็บน้ำแม่ปิง และหากผันน้ำมาเพิ่มอีก พวกเราจะต้องเป็นผู้ที่เดือดร้อนมากที่สุด ทั้งที่เราเสียสละมาครั้งหนึ่งก่อนหน้านี้แล้วในการสร้างเขื่อนภูมิพล” ผู้ใหญ่บ้านกล่าว








Advertisement

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า พบว่าผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยบริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่การดูแลแก้ไขจากรัฐแทบไม่มี ชาวบ้านต้องสู้โดยลำพัง น้ำที่หลากในลำห้วยแม่งูด สร้างความเสียหายต่อเครื่องสูบน้ำของชาวบ้านนับร้อยเครื่อง ชาวบ้านก็แก้ปัญหากันเอง

กรณีโครงการผันน้ำยวม ของกรมชลประทาน หากผันน้ำมาลงที่นี่ ในแผนต้องขุดลอกลำน้ำยาว 2 กิโลเมตร จะกระทบต่อชาวบ้าน แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่รวมอยู่ในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในการจัดการน้ำ ภาครัฐมีแต่จะก่อสร้าง แต่ไม่เยียวยาแก้ปัญหา ไม่เห็นปัญหาปัจจุบัน โครงการผันน้ำไม่สอดคล้องข้อเท็จจริง เราเห็นวิธีคิดแบบนี้มาโดยตลอด ไม่มองทางเลือกอื่นๆ ในการจัดการน้ำที่ยั่งยืนและผลกระทบน้อยกว่า

นายหาญณรงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการแก่งเสือแต้นนั้น ลุ่มน้ำยมมีฝายจำนวนมากแล้ว และชาวบ้านสะเอียบ ยืนยันให้ใช้ทางเลือกในการจัดการน้ำ แต่โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ยังอยู่ในแผนโดยตลอด และชุมชนปกป้องผืนป่ามาโดยตลอดและยืนยันการรักษาป่า เราเห็นสะพานข้ามน้ำยมในป่าแก่งเสือเต้น น้ำมาแล้วก็ลดลงอย่างรวดเร็ว

น้ำที่ท่วมในลุ่มน้ำยมตอนล่างเห็นชัดเจนว่าน้ำมาจาก อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย น้ำท่วมมาจากแม่มอก และไหลมาลงสุโขทัย ในขณะที่น้ำจากเหนือ จ.แพร่ ไม่ได้มีนัยยะสำคัญ ต้องทำความเข้าใจน้ำท่วม ว่าน้ำมาจากไหนและต้องมองในทุกมิติ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ผู้นำชุมชนใน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ได้รับจดหมายจากบริษัทปัญญาคอนซัลแตนท์ เรื่องขออนุญาตปิดประกาศเพื่อประชาสัมพันธ์การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ปัจฉิมนิเทศโครงการ) โครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ ลำพูน 3-สบเมย ส่วนที่พาดผ่านพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1

ทั้งนี้เนื้อหาสำคัญในจดหมายระบุว่า ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ว่าจ้างที่ปรึกา บริษัทปัญญาคอนซัลแตนท์ ให้ดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้าฯ ในการนี้เพื่อให้ประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชนตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ และนำเสนอผลการศึกษาและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโครงการ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อห่วงกังวลเพื่อนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาโครงการได้อย่างครบถ้วน

อนึ่ง โครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ ของ กฟผ. เป็นส่วนหนึ่งของโครงการผันน้ำยวม เพื่อใช้ไฟฟ้าในการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่น้ำยวม ขึ้นสู่ถังพักน้ำ ที่บ้านแม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งการศึกษาระบุว่าจะมีค่าไฟฟ้าในการสูบน้ำถึงปีละราว 2,900 ล้านบาท สายส่งไฟฟ้าแรงสูงจะพาดผ่านพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ในพื้นที่หมู่บ้านต่างๆ ใน 3 จังหวัด อาทิ บ้านห้วยม่วง บ้านแม่ปะน้อย บ้านละโอ๊ต ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน บ้านกะเบอะดิน บ้านแม่อ่างขาง บ้านผาแดง ต.อมก๋อย บ้านแม่ฮองใต้ บ้านห้วยส้ม บ้านข้าวนึ่งดำ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน