นพ.สสจ.ศรีสะเกษ แจงโอนย้ายบุคลากรไปอบจ. เฉพาะคนทำงาน รพ.สต. ไม่รวม รพ.ต่างๆ หลังพยาบาลรพ.แห่ขอยื่นถ่ายโอนด้วย ชี้ผิดหลักการ หากตัดตำแหน่งไป ทำบุคลากรไม่พอ อาจต้องปิดแผนก กระทบบริการชาวบ้านหนัก

จากกรณีกลุ่มพยาบาลวิชาชีพ 198 คนจากหลายรพ.ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ เข้ายื่นหนังสือนายกอบจ.ศรีสะเกษ เนื่องจากต้องการขอโอนย้ายไปสังกัด อบจ.ศรีสะเกษ เพื่อทำงานที่รพ.สต. ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ที่มีการถ่ายโอนก่อนหน้านี้ แต่ต้นสังกัดไม่ให้ย้ายอ้างขาดอัตรากำลัง

ล่าสุดเรื่องนี้ วันที่ 14 พ.ย.2565 นพ.ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า กระทรวงสาธารณสุขเห็นด้วยกับหลักการของการกระจายอำนาจ ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมทั้งท้องถิ่นที่จะเป็นผู้รับภารกิจ

ร้อง

ส่วนกลางที่ต้องกำกับดูแลและประชาชนต้องรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อให้ถ่ายโอนรพ.สต.เป็นไปอย่างถูกต้อง ประชาชนรับการบริการต่อเนื่อง ทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิและตติยภูมิ ที่ผ่านมาเชื่อมโยงกันเข้มแข็งและมีเอกภาพ ทำให้รับมือวิกฤตต่างๆได้ เห็นได้จากการรับมือการระบาดของโรคโควิดจนได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกและนานาชาติ

นพ.ทนง กล่าวต่อว่า การถ่ายโอนภารกิจครั้งนี้เป็นการถ่ายโอนภารกิจปฐมภูมิ บุคลากรที่จะเข้ากระบวนการถ่ายโอนจึงต้องทำงานปฐมภูมิ คือ บุคลากรของ สอน./รพ.สต.เท่านั้น ซึ่งเมื่อวันที่ 2 ต.ค.2565 ศรีสะเกษถ่ายโอน รพ.สต. 117 แห่งไปอบจ.แล้ว รวมบุคลากร 789 คนเป็นข้าราชการ 411 คน

โวย

ส่วนบุคลากรในรพ.ชุมชน รพ.ทั่วไปและ รพ.ศูนย์ ซึ่งเป็นบริการทุติยภูมิและตติยภูมิขอถ่ายโอนนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะไม่เป็นไปตามหลักการถ่ายโอน ที่สำคัญหากตัดโอนตำแหน่งของบุคลากรเหล่านี้ไปจะส่งผลให้ทุกรพ.ขาดแคลนบุคลากรอย่างมาก อาจถึงขั้นต้องปิดแผนก จะส่งผลกระทบโดยตรงกับประชาชน

ทั้งนี้อบจ.ศรีสะเกษ ได้แจ้งรายชื่อผู้ประสงค์ถ่ายโอน/ช่วยราชการ รวมทั้งสิ้น 166 คน จำนวนนี้เป็นพยาบาลวิชาชีพ 112 คน ปฏิบัติงานรพ.สต.เพียง 7 คน อีก 105 คน เป็นพยาบาลในแผนกต่างๆของรพ. ทั้ง ICU ห้องคลอด ศัลยกรรม ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ได้แก่ รพ.ชุมชน 67 คน รพ.ทั่วไป/รพ.ศูนย์ 24 คน ที่เหลือเป็นพยาบาลของ รพ.ในอุบลราชธานี พิษณุโลก นครราชสีมา 8 คน รพ.สังกัด กทม. 2 คน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี 1 คน และสถาบันประสาทวิทยา 3 คน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน