เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ผู้สื่อข่าว “ข่าวสด” ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ รายงานว่า ที่บริเวณที่พักสงฆ์ บ้านโพนสวาง ต.นามะเขือ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ พระครูสิริพัฒน์นิเทศก์ รองเจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์ พร้อมด้วย นางสมประสงค์ สุพัฒนาพงศ์ นายกเทศบาลตำบลนามะเมือ และนายจิรศักดิ์ จราฤทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 บ้านโพนสวาง ต.นามะเขือ อ.สหัสขันธ์ เดินทางเข้าตรวจสอบและสำรวจ รอยพระพุทธบาทโบราณ ที่ชาวบ้านในพื้นที่พบเห็นมาเกือบ 100 ปี ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย พร้อมสอบถามข้อมูลจากชาวบ้านเพื่อเก็บบันทึกไว้เป็นหลักฐานและรวบรวมข้อมูลส่งผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ

จากการตรวจสอบ พบว่ากลุ่มชาวบ้านได้ระดมทุนสร้างศาลาคลุมไว้เพื่อรักษาร่องรอยพระพุทธบาทที่ปรากฎบนพื้นหินอย่างเด่นชัด ซึ่งมีลักษณะคล้ายรอยเท้ามนุษย์ขนาดใหญ่ 2 รอย โดยรอยแรกมีความยาว 49 ซม. กว้าง 25 ซม. เป็นรอยเท้าด้านซ้าย ห่างไปราว 189 ซม. พบรอยเท้าด้านขวา ความยาว 47 ซม. ความกว้าง 25 ซม.ส่วนศาลาที่ชาวบ้านสร้างคลุมไว้ มีประตูเหล็ก ไว้เปิด-ปิดไว้เป็นทางเข้า-ออกอย่างดี เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา พบว่ามีคนพยายามสกัดเอารอยพระพุทธบาทออกไปแต่ไม่สามารถทำได้สำเร็จ

เบื้องต้นสันนิษฐานว่ารอยพระพุทธบาททั้ง 2 ข้างที่พบน่าจะมีอายุใกล้เคียงกับพระพุทธไสยยาสน์(พะนอน) ภูปอ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกันมากนัก ขณะเดียวกันกลุ่มชาวบ้านยังร่ำลือถึงความศักดิ์สิทธิ์และเรื่องราวอาถรรพ์ ที่มักจะเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งกับคนที่ไม่เชื่อและเข้ามาลบลู่ ทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมบริเวณโดยรอบรอยพระพุทธบาท มีบางรายถึงขั้นเสียชีวิต

ขณะที่ พระครูสิริพัฒน์นิเทศก์ กล่าวว่า ในอดีตเคยได้ยินแต่เสียงร่ำลือบอกเล่าต่อกันมากระทั่งได้เข้ามาสำรวจและตรวจสอบร่วมกับเจ้าคณะอำเภอและนายอำเภอ เท่าที่สอบถามข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่และผู้นำท้องถิ่น ทราบว่ามีการพบรอยพระพุทธบาทมานานเกือบ 100 ปี แล้ว เดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นป่าท้ายไร่ปลายนา คนรุ่นปู่ย่าตายายได้มาพบและกันพื้นที่ให้ออกห่างจากทุ่งนา พร้อมกับมอบที่ดินบริเวณนี้ให้เป็นที่สาธารณะสร้างเป็นที่พักสงฆ์ขึ้นมา เนื่องจากเป็นจุดที่พระสงฆ์ที่เดินธุดงค์มาพักอยู่บ่อยครั้ง

พระครูสิริพัฒน์นิเทศก์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันจุดที่พบรอยพระบาทคู่นั้น เป็นจุดกึ่งกลางเส้นทางระหว่างพระพุทธไสยยาสน์ภูค่าว(ตะแคงซ้าย) และพระพุทธไสยยาสน์ภูปอ ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงถึงกัน เบื้องต้นทางคณะสงฆ์ อ.สหัสขันธ์ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการพัฒนาและสนับสนุนให้เป็นเส้นทางพุทธศึกษา และพร้อมที่จะร่วมกันค้นหาข้อมูลเพื่อนำไปอ้างอิงในพุทธประวัติ ตำนาน ความเชื่อ โบราณต่าง ๆ ในพื้นที่ ที่สำคัญในส่วนของพุทธสถานจะต้องร่วมกันพัฒนาเพื่อให้คนรุ่นลูกหลานและรุ่นต่อไปได้ศึกษาและเรียนรู้ถาวรวัตถุพุทธศาสนา โบราณสถานในพื้นที่และช่วยกันปกป้องรักษาต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน