นักวิชาการ ห่วง ความรุนแรง 3 จังหวัดชายแดนใต้ เผยปมเหตุร้อนระอุ เชื่อกลุ่มขบวนการตอบโต้ เปิดสถิติปีนี้สูงกว่าปีที่ผ่านมา แนะกระบวนการพูดคุยสันติภาพ

สถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดในห่วงที่ผ่านมา กลุ่มผู้ก่อเหตุเพิ่มระดับความรุนแรงในการก่อเหตุอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน พ.ย.นี้ มีการก่อเหตุแล้วไม่ว่าจะเป็นการยิงชาวบ้านหาของป่า และระเบิดรถเจ้าหน้าที่ซ้ำ เป็นเหตุให้ชาวบ้านเสียชีวิต 1 บาดเจ็บ 1 และเจ้าหน้าทีทหารเสียชีวิต 1 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา

การวางระเบิดปั๊มน้ำมัน 2 จุดในพื้นที่จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ลอบวางระเบิดในพื้นที่อ.ปะนาเระ เจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 1 ราย เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ลอบวางระเบิดในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ล่าสุด ลอบวางระเบิดคาร์บอมบริเวณแฟลตข้าราชการตำรวจ สภ.เมืองนราธิวาส เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

ซึ่งจากสถิติเหตุการณ์ดังกล่าวพบว่าในเดือนนี้มีการก่อเหตุอย่างต่อเนื่องและมีการเพิ่มระดับความรุนแรงของผู้ก่อเหตุอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องนี้ ด้านนักวิชาการเริ่มวิตกกังวลว่า ความรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้น และมองว่า เป็นการตอบโต้ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ในการปฏิบัติหน้าที่และบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ เกรงจะเกิดห่วงโซ่ของความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) และอาจารย์นักวิจัยประจำสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า มันมีกระแสเพิ่มขึ้นของระดับความรุนแรง ตั้งแต่ปีที่แล้ว และปีนี้ ตั้งแต่ต้นปีมีเหตุการณ์ความรุนแรงถี่ขึ้น แม้จะมีการก่อเหตุที่ลดลงในช่วงของเดือนรอมฏอน แต่หลังจากนั้นก็มีเหตุการณ์เพิ่มขึ้นอีก และเป็นทิศทางที่ดูเหมือนว่า กำลังขยับขึ้น ถึงไม่ได้ขยับขึ้นแบบก้าวกระโดดแต่ระดับเพิ่มขึ้น








Advertisement

การระเบิดในครั้งนี้ เชื่อว่าน่าจะมาจากผลต่อเนื่องอันนี้ มันมีปัจจัยหลายอย่างทีน่าสนใจ ในแง่ที่ว่า ในพื้นที่เอง มีการปฏิบัติการของทางเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย ปิดล้อมตรวจค้น และมีการวิสามัญคนร้าย ในหลายกรณีที่ผ่านมา ในขณะที่กระบวนการพูดคุยสันติภาพสันติสุข ที่มีอยู่ยังดำเนินอยู่ แต่ว่า ยังไม่ได้ผลเป็นรูปธรรม มีประเด็นเกิดขึ้นที่จะคุย แต่ไม่เป็นรูปธรรม ผลของการพูดคุย สันติภาพสันติสุขอันนี้

องค์ประกอบหลายอย่างจะทำให้ ตนเชื่อว่าฝ่ายผู้ก่อเหตุ ฝ่ายกระบวนการ หรือคู่พูดคุยเจรจา หรือฝ่ายอื่น ๆ ของฝ่ายกระบวนการ พยายามสร้างความสนใจขึ้นมา ในการก่อเหตุปฏิบัติการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงความหมายของการปฏิบัติการตอบโต้ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่บังคับใช้กฎหมายด้วย ซึ่งมีเหตุปัจจัยหลายอย่างในการบ่งชี้อย่างนี้

เมื่อถามว่าเป็นห่วงในเรื่องของสถานการณ์ในขณะนี้หรือไม่อย่างไร ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วง แม้ว่าระดับความรุนแรงจะไม่เทียบเท่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แต่เมื่อดูระดับการก่อเหตุเพิ่มขึ้น มีความถี่มากขึ้น น่าจะเป็นสิ่งที่ต้องเพิ่มความระมัดระวัง และเตรียมตัวการป้องกันที่ดีขึ้น ที่สำคัญคือ ต้องหาทางออก จัดการปัญหาความขัดแย้ง และขบวนการสร้างสันติสุขในพื้นที่ให้มันชัดเจนขึ้น ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นเพื่อถ่วงดุลกับความรุนแรง ที่เกิดขึ้น

ก่อนหน้านี้มีการกล่าวถึงการก่อเหตุเพื่อลดความเชื่อมั่นของทางรัฐบาล โดยเฉพาะในช่วงการประชุมเอเปค มองว่ามีการเกี่ยวโยงกับการเมืองหรือไม ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า คิดว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง ไม่มีเงื่อนไขหรือมูลเหตุที่ว่าตัวแสดงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นเลย ดังนั้นประเด็นที่ว่า ความขัดแย้งในทางการเมือง พรรคการเมือง การเลือกตั้ง ไม่น่าจะมีการเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ระเบิดในครั้งนี้

มันเป็นปัจจัยในเรื่องของการพูดคุย สันติภาพ สันติสุข ที่กำลังเดินมาและหาทางออกไม่ได้ รวมถึงการปฏิบัติการตอบโต้ จากเงื่อนไขที่เคยเกิดขึ้นจาก มีการปฏิบัติการของฝ่ายรัฐ มันตามมา คล้ายเป็นลูกโซ่ ของความต่อเนื่อง

เชื่อว่าประเด็นในการแก้ปัญหาในพื้นที่เอง ก็คงต้องคิดในเรื่องนี้ให้ละเอียดขึ้น ให้มีรายละเอียดให้มากขึ้น ในการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะต้องมีอีกหลายเรื่องมาประกอบกัน

เมื่อเทียบสถิติการก่อเหตุ ปีนี้มีสถิติอย่างไรบ้าง และแนวโน้มจะสูงขึ้นหรือไม่ ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า ถ้าเทียบกับปีที่แล้ว ปีนี้ก็ใกล้เคียง และกำลังแซงหน้าเมื่อเทียบกับความถี่ในการก่อเหตุ สถิติของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ตั่งแต่ ม.ค. จนถึง ต.ค. ปีนี้ ก็ 400 กว่าเหตุการณ์แล้ว ซึ่งเท่ากับปีที่แล้วแล้ว เพระฉะนั้น พ.ย.-ธ.ค. ถ้ามีความต่อเนื่องของเหตุการณ์นี้ เข้าใจว่าต้องสูงกว่าปีที่แล้ว

การแก้ปัญหาการก่อเหตุที่ถี่ขึ้นในช่วงนี้ ควรทำอย่างไร ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า ต้องมีมาตรการเฉพาะหน้าและมาตรการระยะยาว แต่สำหรับมาตรการเฉพาะหน้า เชื่อว่าการระมัดระวังการป้องกัน การรักษาความปลอดภัย ต้องมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาทำอยู่แล้ว แต่มันยังคงมีจุดอ่อนบางอย่างที่เป็นช่องว่าง ที่ยังอ่อนอยู่ ตนเชื่อว่า ก็ต้องเสริม ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเองก็คงเข้าใจ จะทำอย่างไรในส่วนนี้

โดยเฉพาะในการปฏิบัติการของฝ่ายรัฐเอง ในการควบคุม หรือการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ น่าจะต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่าจะเน้นในเรื่องของการตอบโต้ หรือว่าจัดการอย่างรุนแรง เพราะว่าเราเห็นแล้วว่า ห่วงโซ่ของความรุนแรงจะไม่หยุด ทำอย่างไรให้กระบวนการสร้างสันติวิธี มันเข้ามาสู่ปฏิบัติการที่เป็นจริงของเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ด้วย ก็ต้องมีกลไก มีกระบวนการรองรับของรัฐ

ในขั้นต่อไปในเรื่องของการพูดคุยสันติภาพสันติสุข ต้องหามาตรการที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เช่นประเด็นการลดความรุนแรง ยุติความรุนแรง ต้องพูดคุยให้มากขึ้น กับฝ่ายของกระบวนการ จะหาวิธีอย่างไรร่วมกันในการลดความรุนแรง มีกลไก มีกระบวนการอย่างไร มาช่วย และต้องยอมรับว่ามีกระบวนการนี้เกิดขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน