‘หมอล็อต’ นำชิ้นส่วนงาจากศึกช้างชนช้าง และดินโป่งเขาใหญ่ ส่งตรวจซินโครตรอน หลังพบงาช้างหักง่าย เหงือกร่น เพื่อวิเคราะห์ภาวะทุพโภชนาการ

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ตนได้เดินทางไปส่งมอบตัวอย่างชิ้นส่วนงาหักจากเหตุการณ์ศึกช้างชนช้าง ระหว่าง “พลายทองคำ” ต่อสู้กับ “พลายงาทอง” จนงาหักทั้งกิ่ง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ให้สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ในวานนี้ (15ธ.ค.) เพื่อตรวจวิเคราะห์

นอกจากนี้ได้นำตัวอย่างดินโป่งจากโป่งเทียมบนอุทยานฯเขาใหญ่ 7 จุด มาตรวจวิเคราะห์หาแร่ธาตุต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ภาวะทุพโภชนาการของช้างป่า โดยมีข้อสังเกตพบช้างป่าเขาใหญ่หักง่ายมากขึ้น ซึ่งกรณีของพลายทองคำที่งาหักทั้งกิ่งนั้น พบว่ามีงาหักตั้งแต่โคนงาและพบภาวะเหงือกร่นร่วมด้วย

อีกทั้งยังพบพฤติกรรมช้างป่าที่ออกจากป่ามากินขยะหรืออาหารในครัวของชาวบ้าน ซึ่งมักเป็นอาหารรสเค็ม เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เกลือแกง และปลาร้า เป็นต้น จึงตั้งข้อสังเกตว่า ช้างป่าอาจจะขาดแคลนแร่ธาตุบางชนิด การนำดินโป่งมาวิเคราะห์ด้วยแสงซินโครตรอนจะช่วยตอบคำถามได้ว่า แร่ธาตุในโป่งเทียมที่ทำขึ้นนั้นเหมาะสมกับสัตว์ป่าหรือไม่

น.สพ.ภัทรพล ระบุว่า แหล่งดินโป่งนอกจากเป็นแหล่งอาหารเสริมให้ช้างป่า กระทิง วัวแดงแล้ว ยังเป็นห้องพยาบาลให้สัตว์หลายชนิดด้วย เพราะเกลือแร่หลายชนิดก็คือยารักษาโรคใช้ในการควบคุม ลดการติดเชื้อ ไล่แมลง ถ้าเรารู้องค์ประกอบของแร่ธาตุเหล่านี้ ต่อไปถ้าเราจะทำดินโป่ง ไม่เพียงเป็นแหล่งอาหารเสริมให้สัตว์เท่านั้น

แต่ต่อไปจะเป็นห้องพยาบาลให้แก่สัตว์ป่า ซึ่งแหล่งดินโป่งที่ลดน้อยลงเป็นปัจจัยให้ช้างป่าออกนอกเขตอนุรักษ์ เกิดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า เกิดการทำลายทรัพย์สินและชีวิตประชาชน เกิดความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่า ซึ่งพฤติกรรมการออกนอกพื้นที่ของช้างป่าแสดงถึงห้องครัวของเขาไม่อุดมสมบูรณ์ ดังนั้นข้อมูลจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนจะนำไปสู่การบริหารจัดการเพื่อผลักดันให้ช้างกลับเข้าป่า การแก้ไขปัญหาช้างป่า นำไปสู่การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพต่อไป

ด้าน ผศ.ดร.ศุภกร รักใหม่ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า การตรวจวิเคราะห์งาช้างด้วยแสงซินโครตรอนครั้งนี้ เพื่อหาสัดส่วนธาตุองค์ประกอบ และหาสัดส่วนหมู่ฟังก์ชันทางเคมีของสารอินทรีย์ เพื่อบ่งชี้ความแตกต่างขององค์ประกอบกลุ่มสารชีวเคมีภายในงาช้าง รวมถึงหารูพรุนภายในงาช้างด้วยเทคนิคถ่ายภาพเอกซเรย์สามมิติ เพื่อตอบสมมติฐานว่า งาช้างป่าหักง่ายเพราะภาวะทุพโภชนาการหรือไม่ ซึ่งจะนำไปสู่การดูแลสุขภาพช้างป่าต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน