ขับรถเมาเหล้า เป่าแอลกอฮอล์มีสะท้าน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดตั้งค่าเครื่องเป่าเมา รับปีใหม่ ช่วยงานตำรวจ แนะวิธีเก็บให้ดี สายกรึ่มอย่าฝืน

วันที่ 21 ธ.ค.2565 นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ทางหน่วยงานได้ให้บริการตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด และสอบเทียบเครื่องวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ เพื่อสร้างความมั่นใจผลการวัดของเครื่องเป่า สนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ตรวจผู้ขับขี่ ป้องกันเมาสุราลดเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยสามารถส่งเครื่องเป่าสอบเทียบได้ที่สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ ส่วนภูมิภาคส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี และสงขลา

โดยห้องปฏิบัติการสอบเทียบเครื่องวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ หากพบว่า เครื่องมีค่าความผิดพลาดเกินเกณฑ์มาตรฐานกำหนด จะปรับตั้งค่าใหม่ให้ตรวจวัดค่าปริมาณแอลกอฮอล์ได้มีประสิทธิภาพ ถูกต้องแม่นยำ และใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีได้

สำหรับเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยการเป่าลมหายใจ ต้องผ่านการสอบเทียบตามรอบระยะเวลา 6 เดือน เมื่อผ่านการสอบเทียบจะมีใบรับรองผลสอบเทียบและสติกเกอร์ติดรับรองที่ตัวเครื่อง ผู้ใช้ควรดูแลรักษาเครื่องวัดให้พร้อมใช้งานเสมอ เช่น ไม่เก็บไว้ในอุณหภูมิสูง ระวังไม่ให้เกิดการตกกระแทก ตรวจสอบแบตเตอรี่สม่ำเสมอ ใช้หลอดที่สะอาดในการเป่า และระวังไม่ให้มีน้ำลายเข้าไปอยู่บริเวณหัววัดภายในเครื่อง

กรณีเกิดอุบัติเหตุแล้ว ผู้ขับขี่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจนไม่สามารถเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ได้ เจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลจะเจาะเลือด ซึ่งควรเก็บตัวอย่างภายใน 6 ชั่วโมง หลังเกิดอุบัติเหตุ ส่งตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ห้องปฏิบัติการกรมวิทย์ 15 แห่ง

โดยช่วงเข้มข้น วันที่ 29 ธ.ค. 2565 – 4 ม.ค. 2566 กรมฯดำเนินการตรวจวิเคราะห์และรายงานผลภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 กรมฯ ตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 712 ราย อายุ 11–83 ปี พบผู้ที่มีผลปริมาณแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนด ร้อยละ 54 ช่วงอายุของผู้ประสบอุบัติเหตุมากที่สุดคือ 20–29 ปี นอกจากนี้ ยังพบว่าพาหนะที่มีความถี่ของการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รถปิคอัพ และรถเก๋ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน