ผู้ปกครอง จี้ รพ.เอกชน แจง ลูก 3 ขวบเสียชีวิต ไปหาหมอตอนกลางวัน บอกเป็นไม่หนักให้กลับบ้าน เที่ยงคืนน้องทรุด ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา

กรณี น้องไฮเทค วัย 3 ขวบ ป่วยเป็นหอบ มีไข้ เช้าวันอาทิตย์ที่ 29 ม.ค.2566 ว่าที่ ร.ต.ปริญญา บาศรี อายุ 27 ปี พ่อ ว่าที่ ร.ต.พัชญาวีร์ ภู่สุข อายุ 25 ปี แม่ นำส่งโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ใน จ.สระบุรี หมอบอกเป็นอาการหลอดลมอักเสบ พ่นยา และจัดยาให้ พ่อแม่ต้องการเอกซเรย์ หมอบอก ต้องอาการหนักๆ และ ให้กลับบ้าน ต่อมาประมาณเที่ยงคืน น้องไฮเทค อาการหนักต้องนำส่งโรงพยาบาลเอกชนที่เดิม หมอคนใหม่บอกว่าอาการน้องหนักมาก และเสียชีวิตในที่สุด โดยพ่อแม่ ไม่ติดใจอะไร แต่ข้องใจว่าการเสียชีวิตเป็นการวินิจฉัยของหมอ หรือเหตุใด อยากให้ชี้แจงจะได้เป็นอุทาหรณ์แก่ผู้ปกครองและโรงพยาบาล

วันที่ 1 ก.พ.2566 ผู้สื่อข่าวรุดไปสอบถามข้อเท็จจริงของโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว เจ้าหน้าที่ทางโรงพยาบาลเอกชนไม่สามารถให้ข้อมูลได้ ยังไม่ทราบข้อเท็จจริง ต้องให้ ผู้ปกครองเด็กนำหนังสือมา ทางโรงพยาบาลจะตรวจสอบและชี้แจงได้

ด้าน นายแพทย์ประสิทธิชัย มั่งจิตร รักษาการในตำแหน่งนายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรม) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวนี้ว่า การเป็นโรคไม่ว่าจะเป็นหนักไม่หนักแค่ไหนก็มีหลายเรื่อง ต้องไปขอข้อมูลทางญาติ ว่าเด็กเจ็บป่วยมากขนาดไหน และเป็นมากี่วันแล้ว ในส่วนหนึ่งทางโรงพยาบาลก็รักษาไปบ้าง รักษาเต็มที่ ตามหลักการถือว่ารักษาเต็มที และมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแล

เรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งตัวคนไข้เองและกระบวนการรักษาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เดี๋ยวต้องหาข้อมูลและประสานงานทางโรงพยาบาลเอกชนเพื่อให้ข้อมูลเพื่อให้โรงพยาบาลเอกชนได้พูดคุยกับทางผู้เสียหาย ว่าจริงๆ แล้วเป็นอย่างไง แบบไหน เพราะว่าตรงนี้ก็ยังไม่สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกได้ เบื้องต้นถ้ามีปัญหาอะไร จะได้เข้าไปช่วยและขอความร่วมมือ และดำเนินการตามระเบียบเท่าที่เราสามารถทำได้

นพ.ประสิทธิชัย กล่าวต่อว่า สำนักงานสาธารณสุขสระบุรี ได้ประสานเบื้องต้นด้วยวาจาและให้ทางโรงพยาบาลชี้แจง ประเด็นที่จะต้องชี้แจง ประเด็นที่จะต้องดำเนินการข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องมีต้นเรื่องว่าจริงๆ แล้วต้นเรื่องเป็นอะไรแบบไหน มีเรื่องมาถึงเราเราต้องเข้าไปตรวจสอบตามหน้าที่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้านายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางวินิจฉัยผิดพลาดจะทำอย่างไร นพ.ประสิทธิชัย กล่าวว่า จะบอกว่าผิดพลาดหรือไม่ คงบอกไม่ได้ ตามหลักการว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร เด็กเป็นโรคอะไร มีโรคประจำตัวอยู่หรือไม่ มีความเสี่ยงอื่นๆ อยู่หรือไม่อยู่ที่การทำที่เกี่ยวข้อง แพทย์ทุกคนต้องการดูแลให้ดีที่สุด แต่ตอนนี้ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือว่าตัวคนไข้เอง หรือที่เกี่ยวข้องอาจจะไม่สามารถดูให้เขาหมด

ต้องไปถามแพทย์ผู้รักษาว่าตอนนั้นเขามีอาการขนาดไหน คืออีกคนมาเห็นตอนที่เป็นหนักมากแล้วแต่ตอนที่มาตอนแรกๆ เขามีอาการแค่ไหน แต่เด็กๆอาจมีโรคอื่น เป็นโรคเฉพาะทางหรือไม่ กระบวนการตันสินใจของแพทย์ว่าจะต้องทำอย่างไงอย่างไหนต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน