คาดวาเลนไทน์ปีนี้ เงินสะพัดพุ่ง 2.3 พันล้าน โพลระบุหอพัก ม่านรูด นำลิ่ว จุดนัดพบ วันเผด็จศึก ฉลองรักกันอย่างคึกคัก แหม..สวนสาธารณะติดโผ คงมีคนชอบ

วันที่ 7 ก.พ.2566 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ทัศนคติและพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงวันวาเลนไทน์ ปี 2566 ในส่วนการสำรวจในเชิงสังคมนั้น เมื่อถามถึงความคิดเห็นว่าคู่รักในกลุ่มใดที่จะฉลองวาเลนไทน์ด้วยการมีเพศสัมพันธ์มากที่สุด ภาพรวมกลุ่มตัวอย่างทุกช่วงวัย (เจน) พบว่า เป็นกลุ่มของนักศึกษา 35.7% รองลงมา คือ กลุ่มคนโสดวัยทำงาน 33.8% และนักเรียน 30.6% ตามลำดับ

โดยสถานที่ที่คาดว่าวัยรุ่นจะใช้ฉลองวาเลนไทน์ด้วยการมีเพศสัมพันธ์มากที่สุด ของเจนวาย (Gen Z) เจนเอ็กซ์ (Gen X) เลือก หอพัก หรืออพาร์ตเมนท์เช่าอยู่ มากที่สุด ส่วน เจนวาย (Gen Y) เลือก โรงแรมม่านรูด โดยภาพรวมคือ 1.หอพัก หรืออพาร์ตเมนต์เช่าอยู่ 28.6% โรงแรมม่านรูด 26.8% ห้องพักรายวัน 20.4% อพาร์ตเมนต์ 8.8% สวนสาธารณะ 8.5% บ้านที่ไม่มีใครอยู่ 6.9%

เมื่อถามถึงการยอมรับได้หรือไม่ หากภรรยาหรือสามี ของท่านเคยมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงานกับท่าน พบว่าส่วนใหญ่ทุกเจน ตอบว่า ยอมรับได้ถึง 70.5% ส่วนที่ยอมรับไม่ได้ มี 29.5%

ขณะที่ ทัศนะต่อคำพูดที่ว่า “การมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงานเป็นเรื่องปกติสำหรับคนในปัจจุบัน พบว่า ภาพรวมมองว่า เป็นเรื่องธรรมดา 42.1% แล้วแต่มุมมอง 39.4% เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ 18.5%

ส่วนความคิดเห็นต่อประเด็นปัญหา ได้แก่ โรงเรียนควรมีการสอนให้เด็กรู้จักป้องกันตัวเมื่อถูกล่วงละเมินทางเพศ เห็นด้วยมาก 52.6% การแจกถุงยางในช่วงวันวาเลนไทน์ เห็นด้วยมาก 52.1% การทำแท้งแบบถูกกฎหมาย เช่น เมื่อแม่ไม่พร้อม เมื่อถูกข่มขืน เมื่อแม่ไม่สมประกอบ เป็นต้น เห็นด้วยมาก 51.4% การสมรสเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQ เห็นด้วยมาก 51.0% และ การอยู่กันก่อนแต่งงาน เห็นด้วยมาก 44.0%

ทั้งนี้ ยังความกังวลต่อปัญหาเด็กและเยาวชน ยังคงเป็นเรื่องยาเสพติด พ่อ-แม่ไม่มีวุฒิภาวะในการเลี้ยงดู และการคลอดแล้วทิ้งการคลอดแล้วทิ้ง การมีลูกในวัยไม่พร้อม การถูกล้วงละเมิดทางเพศ และการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และสิ่งที่อยากให้หน่วยงานรัฐทำ คือการสอนเรื่องเพศสัมพันธ์ในโรงเรียน การแจกถุงยางอนามัยช่วงวาเลนไทน์ การสมรสเท่าเทียม

โดยวาเลนไทน์ปีนี้ น่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ ราว 2,389 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.5% โดยมูลค่าเงินสะพัดขยายตัวเป็นอัตราบวกครั้งแรกในรอบ5 ปี เนื่องจากคนเริ่มกลับมาใช้จ่ายมากขึ้นจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว เห็นได้จากผลการสำรวจการเปลี่ยนแปลงมูลค่าการใช้จ่ายด้านต่างๆที่ปรับเพิ่มขึ้น เช่น ไปทานข้าวนอกบ้านเพิ่มขึ้น 38.5% ไปคาราโอเกะ เพิ่มขึ้น 44.2%

ขณะที่มูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนที่อยู่ที่ 1,848บาท สูงสุดในรอบ 4 ปี โดยผลสำรวจชี้ว่ามูลค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาสินค้าและค่าครองชีพแพงขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าปีนี้คนส่วนใหญ่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังใช้แบบระมัดระวัง เพราะมองว่าเศรษฐกิจไทยยังเติบโตแบบรูปตัวเคยังไม่ทั่วถึง คาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้3.5-4%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน