ผู้นำชุมชนท้องถิ่น ทำหนังสือถึง “ประยุทธ์” ค้านผันน้ำยวม 1.7 แสนล้าน หวั่นป่าไม้ผืนใหญ่ 3 จังหวัดพินาศ ชาวบ้านแม่งูดล้อมหวั่นเจ้าหน้าที่แอบเก็บข้อมูล

วันที่ 14 ก.พ.2566 นายวันชัย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้านห้วยแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในช่วงสายวันนี้ขณะที่ชาวบ้านกำลังทำงานอยู่ในสวน พบว่ามีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัดเดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำจากห้วยแม่งูด เมื่อชาวบ้านสอบถามก็ตอบเพียงว่าเดินทางมาจากกรุงเทพ เมื่อถามว่ามาทำอะไรก็ไม่มีคำตอบชัดเจน ชาวบ้านจึงโทรเรียกกันมาประมาณ 10 คน มา รออยู่ที่ถนน

“เมื่อคนกลุ่มดังกล่าวเดินขึ้นมาจากลำห้วยแม่งูดพร้อมแกลอนใส่น้ำจากลำห้วย พวกเราถามว่ามาจากไหน เขาบอกว่ามาจากกรุงเทพ มาเก็บตัวอย่างน้ำ ถามว่าทำไมต้องห้วยแม่งูด เขาตอบว่าเป็นแม่น้ำหลักของอำเภอฮอด ชาวบ้านก็บอกว่าไม่ใช่ เพราะลำห้วยนี้ในหน้าแล้งไม่มีน้ำ ผมบอกไปว่าที่นี่ บ้านแม่งูดชาวบ้านไม่ให้เข้ามาโดยพละการ ใครจะเข้ามาต้องแจ้งขอชาวบ้าน และขอให้เอาน้ำคืน ก็เททิ้ง

ชาวบ้านถามว่าใครจ้างมา เขาก็ไม่ตอบ ตอนนี้ชาวบ้านต่างรู้สึกกังวลใจ ไม่ต้องการให้ใครเข้ามาในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะทำการศึกษาหรือใดๆ แปลกมากที่เจาะจงมาเก็บตัวอย่างน้ำจากพื้นที่ที่จะก่อสร้างปากอุโมงค์ผันน้ำ แบบนี้ไม่โปร่งใสกับเราเลย” นายวันชัยกล่าว

ด้าน กรมชลประทาน เผยแพร่ข่าวผ่านเพจรอบรั้วชลประทาน ว่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ที่กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพฯ นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ เป็นประธานการประชุมเพื่อรับทราบข้อมูลและการดำเนินความร่วมมือกับธนาคารโลก (World Bank)

โดยมี Ms. Shelley McMillan ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารทรัพยากรน้ำอาวุโส ธนาคารโลก และคณะพร้อมด้วย นายสิริพล รักษนาเวศ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมเพื่อหารือการเตรียมความร่วมมือระหว่างกรมชลประทานกับ ธนาคารโลก (World Bank Group) กรมชลประทาน ได้นำเสนอการดำเนินงานที่มีความเหมาะสมในการนำไปพัฒนากรอบความร่วมมือด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อาทิ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นแนวทางประกอบการพิจารณาการจัดทำความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำในอนาคตต่อไป

ขณะเดียวกัน เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องขอแสดงจุดยืนคัดค้านไม่เห็นด้วยกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อภูมิพล (แนวผันน้ำยวม) ขอให้เพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และยุติการดำเนินการทุกโครงการที่เกี่ยวข้อง โดยสำเนาถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมชลประทาน และผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)








Advertisement

หนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาระบุว่า ทางเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน ประกอบไปด้วย ประชาชนผู้อาศัยอยู่ใน 3 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก รวมถึงผู้ปกครองท้องถิ่น นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ได้ติดตามโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล (แนวส่งน้ำยวม) หรือที่เรียกว่า โครงการผันน้ำยวม มาอย่างต่อเนื่องด้วยความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทราบว่า โครงการดังกล่าวผลักดันโดยกรมชลประทาน และได้ทำโครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (4Ps) แล้วพบว่า ค่าใช้จ่ายโครงการ งานดำเนินงาน บำรุงรักษา และค่าลงทุนจะสูงถึง 1.7 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ กฟผ. ยังกำลังดำเนินงานการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ ลำพูน-สบเมย (ส่วนที่พาดผ่านพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1) ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวเนื่องกับโครงการผันน้ำยวมด้วย

เครือข่ายฯ เห็นว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม เนื่องจาก โครงการประกอบไปด้วยโครงสร้างต่างๆ อาทิเช่น เขื่อนกั้นแม่น้ำยวม ถังพักน้ำ สถานีสูบน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำผ่านป่าต้นน้ำลำธาร และสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของกฟผ. เป็นต้น โดยจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ในลุ่มแม่น้ำยวม แม่น้ำเงา แม่น้ำเมย แม่น้ำสาละวิน และพื้นที่ของอุโมงค์ส่งน้ำและสายส่งไฟฟ้าในพื้นที่ผืนป่ารอยต่อ 3 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ตาก และเชียงใหม่

หนังสือระบุอีกว่าตลอดระยะเวลาอย่างน้อย 6 ปีที่ผ่านมา ได้มีการยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ อาทิ กรมชลประทาน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการผันน้ำดังกล่าวตลอดมา

เนื่องจากเห็นว่า ไม่มีความไม่จำเป็น ไม่เหมาะสม และไม่สอดคล้องกับหลักการจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำ พร้อมทั้งยังขอให้มีการทบทวนรายงาน EIA และกระบวนการที่เกี่ยวข้อง ให้มีการศึกษาที่ครอบคลุมรอบด้านในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ตลอดโครงการ โดยมีความกังวลในหลายประเด็น ได้แก่

1. กระบวนการจัดทำรายงาน EIA ขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับข้อมูลอย่างชัดเจน และความเห็นต่างๆ ของผู้ได้รับผลกระทบที่ได้เสนอไปกลับไม่ได้รับการพิจารณา การจัดทำและเนื้อหาในรายงาน EIA ผิดพลาดจากข้อเท็จจริง ขาดความน่าเชื่อถือ ไม่มีความโปร่งใส

การเก็บข้อมูลหลายครั้งเป็นเพียงการพบในเวลาสั้นๆ หรือเป็นการนัดพบผู้นำชุมชนในร้านอาหาร ที่ไม่ได้แจ้งว่าจะเป็นการประชุมหารือเกี่ยวกับโครงการแต่อย่าง ไม่ได้มีลักษณะของการประชุมเพื่อจัดทำข้อมูลหรือข้อคิดเห็นตามมาตรฐานของกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม จนเป็นที่มาของการรณรงค์คัดค้าน ด้วยการใช้คำว่า #อีไอเอร้านลาบ

ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่น่าเชื่อถือในรายงานดังกล่าวจากผู้ได้รับผลกระทบและสาธารณะ เมื่อรายงาน EIA มีช่องโหว่หรือข้อบกพร่องสำคัญในลักษณะดังกล่าว ย่อมไม่สมควรที่จะใช้เป็นฐานในการตัดสินใจผลักดันโครงการที่มีมูลค่างบประมาณสูงถึงเกือบสองแสนล้านบาท

2.ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัด ซึ่งจะได้รับผลกระทบยังไม่ได้รับรู้ถึงข้อมูลโครงการที่รอบด้านและเพียงพอ ไม่ได้ทราบข้อมูลผลดีหรือผลเสียของโครงการอย่างแท้จริง หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่เคยมาให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนแก่ประชาชนในพื้นที่ แม้จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่ก็จำกัดเฉพาะคนบางกลุ่ม แต่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง กลับถูกกีดกันอยู่วงนอก

3.ชาวบ้านจำนวนมากโดยเฉพาะใน อำเภอฮอด ผ่านประสบการณ์ที่เจ็บปวด จากการถูกเวนคืนที่ดินเมื่อครั้งก่อสร้างเขื่อนภูมิพลมาแล้ว แม้ผ่านไปแล้วกว่า 50 ปี กระบวนการการชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบก็ยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น หากมีการดำเนินโครงการผันน้ำยวมมาอีก จะทำให้พื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนต้องได้รับผลกระทบอีก เท่ากับเป็นการซ้ำเติมชาวบ้านเป็นครั้งที่สอง

ล่าสุด ตั้งแต่ฤดูฝนปี 2565 จนถึงเดือนที่ผ่านมา หลายพื้นที่ ของ อ.ฮอด ทั้งพื้นที่เกษตร ถนน และสะพาน ต้องจมอยู่ใต้น้ำเป็นเวลาหลายเดือน เนื่องจากการเพิ่มการกักเก็บน้ำของเขื่อนภูมิพลเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ชาวบ้าน อ.ฮอด ต้องเป็นผู้รับต้นทุนความเสียหายซ้ำๆ โดยไม่มีการเยียวยาที่ดีพอ ซึ่งเครือข่ายเห็นว่า ชาวบ้านถูกทำให้เป็นผู้เสียสละมามากพอแล้ว

4.ชาวบ้านจำนวนมากในพื้นที่ป่ารอยต่อ 3 จังหวัด ต่างได้พึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้น การมีโครงการขนาดใหญ่ เจาะอุโมงค์ทะลุภูเขา ผืนป่า และต้นน้ำลำธาร เป็นระยะทางกว่า 62 กิโลเมตร จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพระบบนิเวศป่าที่ชาวบ้านใช้ทำมาหากิน เลี้ยงสัตว์ การเกษตร มีผืนป่าเป็นฐานทรัพยากรในการเลี้ยงชีพ อันเป็นผลกระทบโดยตรงจากโครงการ โดยความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบระยะยาวนี้ไม่เคยมีการศึกษาหรือรวมไว้ในต้นทุนของโครงการแต่อย่างใดทั้งสิ้น

5.นักการเมืองผู้ผลักดันโครงการ ระบุว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนฯ (ผันน้ำยวม) จะเป็นเพียงเฟสแรกของโครงการใหญ่ เฟสต่อไป คือ สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน ซึ่งยิ่งจะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำเมยและแม่น้ำสาละวิน อันเป็นเขตพรมแดนไทย-พม่า อย่างยิ่ง ทั้งๆที่เป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ และอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายวันชัย กล่าวด้วยว่า เมื่อเดือนมกราคม 2566 ผู้ปกครองท้องถิ่นจาก อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกอบต. สมาชิกกลุ่มในเครือข่ายฯ รวม 12 คน ได้หารือร่วมกันแล้วเล็งเห็นว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำหนังสือฉบับนี้ขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นประเด็นปัญหาและแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการ

“จดหมายของเราแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยและคัดค้านต่อโครงการ และขอให้ท่านนายกรัฐมนตรี ดำเนินการ 1. ขอให้ยุติ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล (แนวส่งน้ำยวม) 2. ขอให้เพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล ของกรมชลประทาน 3. ขอให้ยุติการดำเนินการใดๆทุกโครงการที่เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน