นักกฎหมาย ชี้ออก พรก. เลื่อน พรบ.ทรมาน-อุ้มหาย ขัดรัฐธรรมนูญ จี้รัฐบาลทบทวน ติงอ้างว่าไม่พร้อม เป็นข้อเท็จจริงที่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริง

วันที่ 17 ก.พ.2566 นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ท้วงมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ออกพระราชกำหนดเลื่อนการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 อาขเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอขอขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับของมาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวออกไป โดยให้มีผลใช้บังคับขยายจากวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

โดยอ้างว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติการตามกฎหมายแจ้งว่ายังมีปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับความพร้อมด้านงบประมาณ การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ และขั้นตอนการปฏิบัติงานในการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความละเอียด ซับซ้อน และมีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของประชาชนโดยตรง หากมีการใช้บังคับกฎหมายในขณะที่หน่วยงานยังไม่มีความพร้อมอาจเกิดผลร้ายแรงต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง

เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เตรียมความพร้อมในด้านอุปกรณ์และบุคลากรสำหรับการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสมและเพียงพอ ตลอดจนให้มีการวางหลักเกณฑ์และมาตรฐานการปฏิบัติงานอย่างรอบคอบ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของประชาชนอย่างแท้จริง

นายสุรพงษ์กล่าวว่า การออกพระราชกำหนดโดยคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 172 จะต้องเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัย สาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะเท่านั้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะอ้างว่าไม่มีความพร้อม ไม่น่าจะเป็นการกล่าวอ้างที่ชอบ เนื่องจากการออกพระราชบัญญัติฉบับนี้ สตช.ก็มีส่วนร่วมและรับทราบตลอดมากว่าสิบปี ทั้งเมื่อกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ก็ได้บัญญัติในมาตรา 2 ให้โอกาสในการเตรียมความพร้อมก่อนใช้บังคับกฎหมายถึง 120 วัน

ทั้งเรื่องกล้องติดตามตัวเพื่อบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องขณะจับและควบคุม เพื่อเป็นหลักฐานช่วยเจ้าหน้าที่ ก็ไม่ได้บังคับให้ต้องใช้ในทันทีและต้องเข้าระบบที่มีความซับซ้อน สามารถใช้กล้องทั่วไปได้ และกฎหมายยังระบุว่า หากมีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถกระทำได้ ก็ให้บันทึกเหตุนั้นเป็นหลักฐานไว้ในบันทึกการควบคุมตัว ดังนั้นแม้จะไม่มีกล้องติดตามตัวก็ไม่เป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า เหตุฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ที่ให้อำนาจคณะรัฐมนตรีออกพระราชกำหนด ต้องเป็นเหตุฉุกเฉินที่มิอาจคาดเดาได้จริงๆ อาทิ เกิดแผ่นดินไหว เกิดสงคราม แต่ในช่วงที่ผ่านมาไม่มีเหตุฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนเกิดขึ้นเลย

การกล่าวอ้างว่าหากมีการใช้บังคับกฎหมายในขณะที่หน่วยงานยังไม่มีความพร้อมอาจเกิดผลร้ายแรงต่อสังคม เป็นการกล่าวอ้างที่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริง เพราะการที่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมายหรือมีกฎหมายแล้วแต่ไม่บังคับใช้ต่างหากที่เป็นผลร้ายแรงต่อสังคม หากเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไปแล้วเกิดผลกระทบความเสียหายเกิดขึ้น จะมีผู้ใดรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้น

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ร่างพระราชกำหนดนี้ไม่มีเหตุฉุกเฉิน ไม่มีความจำเป็น จึงขอให้รัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องทบทวน เนื่องจากน่าจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน