กรมน้ำ จัดงานวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก 2566 เน้นทุกภาคส่วนร่วมสร้างความตระหนักในการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ ‘ถึงเวลาแล้วสำหรับการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ’

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่วัดคงคาราม (วัดบน) ต.บางปะกง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เป็นประธานเปิดงานวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลกประจำปี พ.ศ. 2566 เพื่อหวังให้เกิดการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญของการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ

นายภาดล เปิดเผยว่า “วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก” สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประกาศให้เป็นวันของการเฉลิมฉลองและรำลึกถึงการลงนามอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรืออนุสัญญาแรมซาร์ ที่จัดขึ้น ณ เมืองแรมซาร์ ประเทศอิหร่าน เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2514 ดังนั้น วันที่ 2 ก.พ. ของทุกปี จึงถือเป็นวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลกในทุกๆปี โดยในปี 2566 มีกรอบความคิดและหัวข้อสำหรับการรณรงค์ฯ คือ “ถึงเวลาแล้วสำหรับการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ” หรือ “It’s time for wetland restoration”

นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ

ปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลกหลายแห่งมีความเสื่อมโทรม ถูกบุกรุกคุกคามจากมนุษย์ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องลงมือทำเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านั้น กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจด้านพื้นที่ชุ่มน้ำ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2565 มีบทบาทหลักในการดำเนินการเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ และมีหน้าที่ในการกำกับ ดูแล และเสนอแนะมาตรการ หลักเกณฑ์ รวมถึงวิธีการเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะและพื้นที่ชุ่มน้ำ อีกทั้ง ยังมีสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 – 11 ที่ประจำอยู่ในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่ต่อไป

 

นายวิชา นรังศรี ประธานมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย ให้ข้อมูลว่า แม่น้ำบางปะกง จัดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติตามมติครม. 3 พ.ย. 52 โดยแม่น้ำบางปะกงเกิดจากการไหลมาบรรจบกันของลำน้ำใหญ่ 2 สาย คือ แควหนุมานและคลองพระปรง ไหลผ่านจ.ปราจีนบุรี มาบรรจบกับแม่น้ำนครนายกที่บริเวณ ต.บางแตน จ.ปราจีนบุรี จากนั้นไหลผ่านมายัง จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีคลองท่าลาดไหลมาสมทบ ที่หน้าวัดปากน้ำโจ้โล้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ไปสิ้นสุดที่อ่าวไทย ซึ่งมีความยาวรวมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำประมาณ 240 กิโลเมตร ไหลผ่านพื้นที่ต่างๆ กว่า 50 ตำบล

แต่ปัจจุบันแม่น้ำบางปะกง เกิดเหตุการณ์น้ำเสียปีละหลายครั้ง และเกิดเป็นประจำทุกปี ส่งผลให้ชนิดและประชากรสัตว์น้ำลดลงอย่างต่อเนื่องจนขาดศักยภาพในการฟื้นฟูตัวเองให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม ดังนั้น ความร่วมมือจากคนในชุมชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงเป็นความหวังที่สำคัญที่จะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำบางปะกง ให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิมได้อีกครั้ง”

 

สำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาแรมซาร์ ระบุถึงพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลกที่ถูกทำลายไว้ว่าปัจจุบันมีพื้นที่มากกว่า 35% ถูกทำลายตลอดระยะเวลา 50 ปี การสูญเสียมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกส่วนจะร่วมกันสร้างความตระหนักและลงมือกระทำ ก่อให้เกิดปรากฎการณ์ระลอกคลื่นที่แผ่ออกไป สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการร่วมกันฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำของทุกภาคส่วนต่อไป

สำหรับกิจกรรมภายในงาน อาทิ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “การอนุรักษ์ ฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ และลำน้ำสาขา” แก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน มีวิทยากรร่วมให้ความรู้และแลกเปลี่ยนมุมองจากกรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย และตัวแทนภาคีเครือข่ายบางปะกง

กิจกรรมการสร้างความตระหนักในการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น การปล่อยพันธุ์ปลาและพันธุ์ปูท้องถิ่นลงแม่น้ำบางปะกง การปลูกป่าชายเลน การสร้าง บ้านปลา เก็บขยะริมฝั่งน้ำบางปะกง มีการจัดนิทรรศการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ และตัวอย่างพื้นที่ชุ่มน้ำที่กรมทรัพยากรน้ำร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟู อาทิ พื้นที่ชุ่มน้ำบึงสีไฟ จ.พิจิตร พื้นที่ชุ่มน้ำหนองหาน กุมภวาปี จ.อุดรธานี พื้นที่ชุ่มน้ำหนองหาร จ.สกลนคร เป็นต้น

มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย นำเสนอภาพถ่ายที่สะท้อนถึงวิถีชุมชนกับพื้นที่ชุ่มน้ำ กรมควบคุมมลพิษ นำเสนอข้อมูลและหลักการการแยกขยะที่ถูกวิธี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำเสนอแบบจำลองของสัตว์ที่อาศัยบริเวณริมป่าชายเลน ภาคีบางปะกง ร่วมจัดแสดงวิถีชีวิตชุมชน ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงผลผลิตพื้นถิ่นที่ได้จากการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด และบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด นำเสนอโครงการ “มิซุอิกุ: สอนน้องรักษ์น้ำ” ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชน โดยมีกรมทรัพยากรน้ำร่วมเป็นหนึ่งในภาคี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน