วันที่ 13 ก.พ. ที่ด้านหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ถนนราชดำเนินนอก เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยังคงปักหลักชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.เทพา จ.สงขลา โดยมีตัวแทนเครือข่ายประกาศอารยะขัดขืนขั้นสูงสุดด้วยการอดอาหาร และดื่มแต่น้ำ เพื่อประกาศไปให้คนทั่วโลกว่าการปกป้องสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย ต้องใช้ชีวิตมาแลกกัน จากเดิม 33 คน เพิ่มขึ้นเป็น 63 คน รวมเวลากว่า 27 ชั่วโมงแล้ว นอกจากนี้ยังมีประชาชนจากจ.กระบี่ และจ.สงขลา ทยอยเดินทางมาร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้น

นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา ในฐานะผู้ร่วมชุมนุม กล่าวว่า เครือข่ายฯที่มาร่วมชุมนุมต้องการให้รัฐบาลยุติการผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่- เทพา เพราะที่ผ่านมามีการถอนเรื่องไปแล้ว แต่ก็เป็นเพียงการชะลอไว้ 3 ปี เพื่อทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งเครือข่ายฯ เห็นว่า กรอบการรับฟังความเห็นยังคงเป็นแบบเดิม ไม่มีการรับฟังความเห็นประชาชน และวางมาตรการรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว

ด้าน นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายกระบี่- เทพา ปกป้องสองฝั่งทะเล หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหิน แถลงว่า วันนี้ สน.นางเลิ้ง ที่เคยอนุญาตให้เครือข่ายใช้พื้นที่ค้างคืนได้ได้ส่งหนังสือแจ้งมาว่ามีผู้ชุมนุมก่อให้เกิดการขีดขวางจราจร และทำให้ผู้สัญจรไปมาเกิดความไม่สะดวก ตนขอชี้แจงว่าเป็นการกล่าวหาเกินกว่าเหตุ เพราะคงไม่มีคนสติดีที่ไหนจะลงไปเดินบนถนนให้รถชน ส่วนการสัญจรบริเวณนี้มีเกาะกลางสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งเราใช้ชุมนุมอีกฝั่งหนึ่งยังใช้เดินเท้าได้ปกติ นี่จึงเป็นการหาเรื่องกีดกันไม่ให้เราใช้พื้นที่ชุมนุม ด้วยการพยายามหาเหตุที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ดังนั้น ขอประกาศต่อทั้งรัฐบาลและสน.นางเลิ้งว่า จะไม่ย้ายไปไหน

“อารยะขัดขืนหมายถึงนั่งแล้วจะไม่ลุก ฝ่ายความมั่นคงอยากจะเอาทหารสักหนึ่งกองพันมาสลายก็ไม่มีปัญหา เราไม่ลุก ส่วนการประชุมครม.ในวันนี้ ที่ไม่มีการพิจารณายกเลิกโรงฟ้าถ่านหินกระบี่เทพา ก็เข้าใจว่ากระแสสังคมยังไม่เพียงพอที่จะกดดัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของรัฐบาลนี้ที่จะทำอะไรได้ต้องรอให้มีกระแสกดดัน แต่หาก 3-4 วันรัฐบาลยังไม่ตัดสินใจ คนใต้จะขึ้นมาร่วมกับเราอีกเป็นพัน แล้วรอดูว่ากระแสสังคมจะกดดันมากพอแล้วหรือยัง เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่กระบี่-เทพา แต่เป็นเรื่องของภาคใต้ทั้งหมด” นายประสิทธิ์ชัยกล่าว

ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล กระบี่-เทพา นำโดยนายมัธยม ชายเต็ม และน.ส.จินดารัตน์ เพิ่มลาภวิรุฬห์ ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ประกาศยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และกระบี่ เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจน และยังสร้างความสับสนให้กับประชาชนทั้ง 2 พื้นที่ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศว่าจะชะลอโครงการไปอีก 3 ปี โดยไม่หยุดกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ)และกระบวนการอื่นๆ เช่น การขอใช้ที่ดินในที่สาธารณะ และการเวนคืนที่ดินเกือบ 3 พันไร่ ที่จะใช้เป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งทางเครือข่ายฯไม่อาจยอมรับโครงการนี้ อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะหาทางออกในเรื่องนี้ จะต้องกล้าที่จะประกาศยุติการดำเนินการทั้ง 2 โครงการทันที โดยขอให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อให้เห็นชอบโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายฯจะปักหลักรอที่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น)ประจำประเทศไทย จนกว่าจะได้คำตอบ

จากนั้นที่บริเวณด้านหน้าองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กลุ่มฯ ได้แถลงการณ์และแสดงจุดยืนใช้มาตรการอารยะขัดขืนขั้นสูงสุดคือ งดอาหาร นั่งตากแดด ดื่มแต่น้ำ รวมทั้งสิ้น 63 คน เพื่อประกาศไปยังคนทั่วโลกว่า การปกป้องสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยต้องใช้ชีวิตมาแลกกัน โดยวันนี้ทางกลุ่มฯ จะขอรอดูท่าทีของรัฐบาลหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมครม. หากไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวทางกลุ่มฯจะมีการประชุม เพื่อยกระดับแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน