ทารกไทยกินนมแม่ ลดฮวบเหลือ 14% เหตุพิษ “โควิด” ดันออก กฎหมายเพิ่มวันลาคลอด 6 เดือน หวังเพิ่มยอดกินนมแม่ให้ได้ 50% ในปี 2568

วันที่ 23 ก.พ. 2566 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ระหว่างกรมอนามัยและมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นับเป็นรากฐานที่สำคัญของสุขภาพทารกที่ดี เพราะอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ และเป็นวัคซีนหยดแรกในการสร้างภูมิคุ้มกันของทารกนพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงส่งเสริมให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือ ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรก จากนั้นกินนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยจนถึง 2 ขวบ ตั้งเป้าให้เด็กไทย 50% กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน
ด้าน พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อมูลการกินนมแม่ของประเทศไทยล่าสุดปี 2565 อยู่ที่ 14% ลดจากปี 2562 อยู่ที่ 23% ซึ่งเป็นเหมือนกันทั่วโลก เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องมีการผ่าคลอด และแยกลูกออกจากแม่ทันที เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ดังนั้น การจะทำให้ถึงเป้าหมาย 50% ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน พญ.ศิริพร กล่าวต่อว่า กรมอนามัยและศูนย์นมแม่ฯ ได้ร่างยุทธศาสตร์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจะมีการประชาพิจารณ์ในเดือน มิ.ย.นี้ โดยมี 4 ประเด็น คือ 1.การขับเคลื่อนนโยบายและกฎหมาย การผลักดันให้ออกกฎหมายอนุญาตให้ผู้หญิงลาคลอดได้ 6 เดือน โดยได้รับเงินเดือน จากที่ปัจจุบันลาได้ 3 เดือน หากไม่ออกกฎหมายดังกล่าวก็ต้องสนับสนุนงบประมาณและจัดหาคนดูแลที่มีคุณภาพมาช่วยดูแล 2.การปลูกฝังและสร้างค่านิยมกินนมแม่ 3.การพัฒนาคุณภาพระบบบริการ และ 4.การจัดการความรู้และนวัตกรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน