กรมควบคุมโรค เผยปีนี้ป่วย “ไข้เลือดออก” พุ่ง 6,156 ราย ตาย 4 ราย เทียบ ม.ค.ป่วยมากกว่าปีก่อน 6.6 เท่า ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในบ้าน 8.54% ในภาชนะ 4.81% คาดสัปดาห์นี้แนวโน้มเพิ่มอีก

7 มี.ค.66 – กรมควบคุมโรค เผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์” ประจำสัปดาห์ที่ 9 วันที่ 5 – 11 มี.ค. 2566 ระบุว่า จากข้อมูลจากระบบรายงานเฝ้าระวังโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ในปี 2566 วันที่ 1 ม.ค.- 1 มี.ค. พบผู้ป่วยจำนวน 6,156 ราย เสียชีวิต 4 ราย

กลุ่มอายุที่อัตราป่วยพบมากที่สุด 3 อันดับ คือ 5-14 ปี, 15-24 ปี และ 0-4 ปี คิดเป็น ร้อยละ 27.81, 16.39 และ12.76 ตามลำดับ พื้นที่ที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ กทม. 23.84% ภาคใต้ 16.33% ภาคกลาง 14.07% เมื่อเทียบกับปี 2565 พบว่า ม.ค.มีผู้ป่วยมากกว่าปีที่แล้ว 6.6 เท่า

การพยากรณ์โรคฯ สัปดาห์นี้ คาดว่า มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และจากข้อมูลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย ผ่านแอพพลิเคชัน อสม./อสส. ออนไลน์ สัปดาห์ที่ 8 จำนวนบ้าน 394,045 หลังคาเรือน พบบ้านที่มีลูกน้ำยุงลายจำนวน 33,661 หลังคาเรือน คิดเป็น House Index : HI ได้ร้อยละ 8.54 และได้ทำการสำรวจภาชนะจำนวน 4,332,352 ชิ้น พบภาชนะที่มีลูกน้ำยุงลาย 208,425 ชิ้น คิดเป็น Container Index : CI ได้ร้อยละ 4.81

การป้องกันคือ นอนในมุ้งหรืออยู่ในห้องติดมุ้งลวด ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ทาโลชั่นกันยุงที่มีองค์ประกอบของ DEET ความเข้มข้นในเด็กและผู้ใหญ่ที่แนะนำ คือ 20-30% และ 20-50% และปฏิบัติตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่ เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่ง เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ และเก็บแหล่งน้ำ ปิดให้มิดชิด

เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ภาชนะขังน้ำขนาดเล็กหมั่นเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน เช่น แจกันดอกไม้สด แจกันหิ้งบูชาพระ แจกันที่ศาลพระภูมิ จะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

ทั้งนี้ หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลันนานเกินกว่า 2 วัน ร่วมด้วยกับอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หน้าแดง ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อยากินเอง

โดยเฉพาะยาในกลุ่มที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย หยุดยาก รวมถึงภาวะตับวาย เช่น ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน และ ไดโคลฟีแนค สำหรับร้านขายยาและคลินิก ควรแนะนำผู้ป่วยสงสัยโรคไข้เลือดออกให้เข้ารับการรักษาที่ รพ.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน