บุกตรวจ ‘สำนักพราหมณ์’ ประหลาด เปิดให้กราบไหว้ศิวลึงค์ชาย-หญิง เชื่อโชคดี เผยไม่ใช่เรื่องแปลก นายอำเภอปากช่อง ขอให้แก้ข้อความไม่เหมาะสม

จากกรณีโลกโซเซียล เผยแพร่เรื่องราวความเชื่อสุดแปลกประหลาดของสำนักพราหมณ์ ธรรมโชติหิรัญ ตั้งอยู่ที่หมู่ 7 บ้านหนองผักแผ่น ต.ขนงพระ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา บริเวณพื้นที่ตั้งสำนักพราหมณ์อยู่ในเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ โดย พราหมณ์เนาวรัตน์กชพร ศรีเมธาวงศ์ เจ้าสำนักโกนศีรษะ สวมเสื้อผ้าชุดไทย และเรียกตัวเองว่าแม่พราหมณ์

อ้างว่าสิ่งที่เห็นเป็นไปตามตำราดูดวงตามศาสตร์ “คัมภีร์มหานาม” เพื่อรักษาเยียวยาจิตใจของผู้หญิงที่ประสบทุกข์ ถือเป็นหนึ่งในความเชื่อเรื่องการแก้กรรมจากการทำแท้งของผู้หญิง ที่เป็นเหตุให้ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต หากินไม่ขึ้น และเจ็บไข้ได้ป่วย จุดทำพิธีเผาวิญญาณคล้ายเชิงตะกอน

ที่ผ่านมามีผู้มีจิตศรัทธามักจะมาถือศีล 8 อาบน้ำมนต์ สะเดาะเคราะห์ เสียค่าทำพิธีคนละ 500 บาท เงินที่ได้นำมาเป็นค่าใช้จ่ายทะนุบำรุงสำนักพราหมณ์แห่งนี้ โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา ฝ่ายปกครอง ร่วมกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจ และสำนักพุทธศาสนา เข้าตรวจสอบและสั่งให้เคลื่อนย้ายพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับรูปปั้นอวัยวะเพศชายและหญิง ออกไปให้ห่าง เวลาประชาชนถ่ายภาพ จะทำให้เห็นภาพที่ไม่น่าดูอาจจะทำให้พุทธศาสนามัวหมองเสื่อมเสีย ตามที่เสนอข่าวไปนั้น

เมื่อวันที่ 22 พ.ค.66 นายคณัสชนม์ ศรีเจริญ นายอำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบ สำนักพราหมณ์ธรรมโชติหิรัญอีกครั้ง เพื่อจัดระเบียบเพื่อให้เป็นไปตามศีลธรรมอันดีงาม และขอความร่วมมือจากเจ้าสำนักพราหมณ์ ธรรมโชติหิรัญ เนื่องจากในบางจุดยังมีป้ายข้อความที่ไม่เหมาะสม ก็ขอให้แก้ไข

ส่วนมีผู้มากราบไหว้รูปปั้นศิวลึงค์เพศชายและเพศหญิง ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ยังไม่พบว่าเกิดความเสียหายแต่ประการใด มอบหมายให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สอดส่องดูแลความผิดสังเกตและความเป็นระเบียบ เรียบร้อย

ด้านแม่พราหมณ์ เนาวรัตน์กชพร ศรีเมธาวงศ์ เจ้าสำนักพราหมณ์ธรรมโชติหิรัญ กล่าวว่า การมีผู้ศรัทธาเข้ามากราบไหว้รูปปั้นศิวลึงค์ เพศชายและเพศหญิง คือเป็นต้นกำเนิดของชีวิตและความอุดมสมบูรณ์ ของชีวิตในโลก ก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่แปลก เพราะถือเป็นสิ่งเคารพบูชา

อย่างหนึ่งของผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ ในอินเดียมาตั้งแต่โบราณ เมื่อ 5,000 ปีมาแล้ว หรือ 3,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช เกิดขึ้นครั้งแรกที่บริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ ในแคว้นปัญจาบของอินเดีย และยังมีคำสอนให้เพศหญิงต้องให้ความเคารพสามี ที่เป็นเพศชาย ถึงแม้ว่าปัจจุบันหญิงและชายจะมีสิทธิเท่าเทียมกันตามกฎหมายก็ตาม ที่ผ่านมามีผู้เลื่อมใส เข้าร่วมทำพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ต่อชะตาจำนวนมาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน