นครราชสีมา ผอ.สคร.9 ย้ำ ชาวบ้านแห่เก็บเห็ดป่าช่วงหน้าฝน ระวังเห็ดพิษ พบไม่ถึง 5 เดือน ป่วย 5 ราย โชคดีเสียชีวิตยังไม่มี แนะภูมิปัญญาชาวบ้านวิธีทดสอบความเป็นพิษเห็ด

25 พ.ค. 66 – นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ช่วงเข้าสู่ฤดูฝน มีฝนตกลงมาหลายพื้นที่ ทำให้เห็ดหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี

โดยเฉพาะเห็ดป่าในพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งเห็ดกินได้ และเห็ดพิษ ชาวบ้านที่ออกไปหาเก็บเห็ดป่าเพื่อนำมาบริโภคหรือจำหน่าย จะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากมีรายงานว่า มีชาวบ้านใน ต.กกสะทอน อ.ด่านซ้าย จ.เลย จำนวน 9 คน ไปเก็บเห็ดระโงกที่มีพิษ นำไปทำอาหารบริโภค จนเกิดอาการท้องร่วง ต้องนำส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน

ต่อมา มี 2 คนที่อาการหนัก เสียชีวิตลง อีก 7 คน ยังอาการยังน่าเป็นห่วง ต้องรับการถ่ายเลือด ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้ที่ชื่นชอบบริโภคเห็ดเป็นอย่างมาก

สำหรับ เขตสุขภาพที่ 9 สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากเห็ด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 13 พฤษภาคม 2566 มีรายงานว่า พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากเห็ด จำนวน 5 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต








Advertisement

เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบผู้ป่วย 3 ราย ที่จังหวัดชัยภูมิ และผู้ป่วยอีก 2 ราย ที่จังหวัดสุรินทร์ ส่วนที่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดบุรีรัมย์ ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย

ทั้งนี้ กลุ่มที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มนักเรียน และเกษตรกร รองลงมาคือ กลุ่มทำงานรับจ้าง โดยพบผู้ป่วยในช่วงอายุ 5-9 ปี สูงสุด รองลงมาคือ อายุ 10 – 14 ปี , อายุ 65 ปีขึ้นไป และอายุ 55 – 64 ปี ตามลำดับ จึงขอเน้นย้ำว่า หากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บ หรือซื้อมาปรุงอาหาร ควรเลือกเห็ดจากแหล่งที่มีการเพาะพันธุ์ที่ปลอดภัย

ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับเห็ด ไม่ควรล้วงคอ หรือกินไข่ขาวดิบเพื่อกระตุ้นให้อาเจียน เพราะอาจทำให้เกิดแผลในคอ และทำให้ป่วยท้องเสียเพิ่มขึ้นหรือติดเชื้อได้ จะต้องรีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที และแจ้งประวัติการกินเห็ดโดยละเอียด พร้อมนำตัวอย่างหรือภาพถ่ายเห็ดไปด้วย เพื่อรับการรักษาได้อย่างถูกวิธี

ส่วนของชาวบ้านที่ไปหาเก็บเห็ดป่า แม้จะมีความชำนาญเรื่องการเก็บเห็ดอยู่แล้ว แต่ก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น เพราะเห็ดหลายชนิด เมื่ออยู่ในระยะดอกตูม จะมีความคล้ายคลึงกันมาก อาจทำให้เข้าใจผิด เก็บเห็ดพิษนำมาประกอบอาหารได้

ซึ่งเห็ดพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ จะเป็น “เห็ดระโงกพิษ” หรือบางที่เรียกว่า “เห็ดระโงกหิน” , “เห็ดระงาก” หรือ “เห็ดไข่ตายซาก” จะมีความคล้ายคลึงกับ “เห็ดระโงกขาว” ที่กินได้ แต่ส่วนที่แตกต่างกัน คือ รอบขอบหมวกเห็ดระโงกพิษจะไม่มีรอยขีด ผิวก้านเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ถุงหุ้มโคนรูปถ้วยแนบติดกับโคนก้าน เมื่อผ่าก้านดูจะมีลักษณะตัน

นอกจากนี้ ยังมี “เห็ดถ่านเลือด” ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ “เห็ดถ่านเล็ก” ที่กินได้ โดยขนาดดอกจะเล็กกว่าและไม่มีน้ำยางสีแดงส้ม , ส่วน “เห็ดเมือกไครเหลือง” ที่ประชาชนมักสับสนกับ “เห็ดขิง” ต้องสังเกตให้ดี เพราะชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า ,และยังมี “เห็ดหมวกจีน” ที่มีความคล้ายกับ “เห็ดโคน” ที่กินได้

ชาวบ้านที่ไปหาเก็บมาบริโภคหรือขาย จะต้องตรวจสอบดูให้ดี ซึ่งวิธีทดสอบความเป็นพิษของเห็ดตามภูมิปัญญาชาวบ้าน จะมีทั้งวิธีนำไปต้มกับข้าวหรือหอมแดง ถ้าเป็นเห็ดพิษจะทำให้ข้าวเปลี่ยนสี

ส่วนวิธีจุ่มช้อนหรือตะเกียบเงิน-เครื่องเงินลงไปในน้ำที่แช่เห็ด แล้วจะทำให้เงินเป็นสีดำนั้น เป็นวิธีการตรวจสอบที่ผิด ไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษ จะมีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะนำมาทำให้สุกแล้ว ก็ไม่สามารถทำลายพิษได้ จึงต้องตรวจสอบให้ดีและเพิ่มความระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน