สธ.เตือน “ไข้เลือดออก” ป่วยพุ่ง เดือนหน้าพีคอีก ร.ร.ยุงลายอื้อ ห่วงภาวะอ้วนเสี่ยงดับสูง อาการคล้ายหลายโรค รวมทั้งโควิด ทำให้รักษาช้า วินิจฉัยยาก เตรียมทำหนังสือทุกจังหวัดเฝ้าระวัง

29 พ.ค. 66 – นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ภายในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีโควิด 19 มีการรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกด้วย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก

โดยตั้งแต่ต้นปี ม.ค. 2566 มีผู้ป่วย 16,650 ราย มากกว่าปีที่แล้วหลายเท่า เสียชีวิต 17 ราย ยิ่งช่วงนี้เข้าฤดูฝน โรคไข้เลือดออกมีการระบาดตามฤดูกาลคล้ายโควิด คาดว่าเดือนหน้าจะมีผู้ป่วยขึ้นสูงมาก

นอกจากนี้ จากการสำรวจลูกน้ำยุงลายตามบ้านเรือนประชาชนและสถานที่ต่างๆ ปีนี้ พบว่า ดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงมาก บางสถานการณ์มีมากกว่า 50% กลุ่มที่มีลูกน้ำยุงลายสูง คือ โรงเรียน วัด สถานที่ราชการ และ โรงงาน โดยจะแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการสำรวจลูกน้ำยุงลาย และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงการเสียชีวิตของทั้ง 17 รายนั้น หลังๆ การเสียชีวิตพบในผู้ใหญ่มากขึ้น ซึ่งเดิมเข้าใจว่า เด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปี หรือเด็กโตเป็นกลุ่มเสี่ยง ทำให้ใส่ใจระมัดระวังกลุ่มนี้ อัตราการเสียชีวิตจึงลดน้อยลง

แต่ระยะหลังผู้ใหญ่ที่คิดว่าโอกาสเป็นโรคไข้เลือดออกมีน้อย พบว่าเป็นเยอะขึ้น มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ ภาวะอ้วนทำให้เสียชีวิตจากไข้เลือดออก รวมถึงการวินิจฉัยล่าช่า บุคลากรทางการแพทย์เองและผู้ป่วยที่เป็นไข้ ส่วนใหญ่คนจะนึกถึงโควิด แต่ลืมนึกถึงไข้เลือดออก

บางครั้งไปกินยาที่ทำให้อาการไข้เลือดออกรุนแรงมากขึ้น เช่น ยากลุ่มเอ็นเสด แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เป็นต้น ดังนั้น ถ้ามีอาการไข้สงสัยให้ปรึกษาแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อย่าซื้อยากินเอง ยาที่อาจเป็นอันตรายทำให้เลือดออกง่ายขึ้น จะช่วยลดการเสียชีวิตจากไข้เลือดออก

เมื่อถามถึง นางกิ๊ป ตันน้ำเพชร ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย หนึ่งในกลุ่มชาวบ้านที่ถูกจับกุมดำเนินคดีกรณีบุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้เสียชีวิตจากไข้เลือดออก หลังมีการร้องเรียนการวินิจฉัยรักษาล่าช้า นพ.โอภาสกล่าวว่า มอบทีมงานไปสอบสวนดูว่าเกิดจากอะไร เพราะจะมีรายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจ

อย่างไรก็ตาม โรคไข้เลือดออกอาการช่วงแรกๆ จะเหมือนกับโรคอื่นหลายโรค ทั้งโควิด ไข้หวัดใหญ่ โรคฉี่หนู ถ้ามาครั้งแรกจะไม่มีใครวินิจฉัยได้ ถ้ามาครั้งแรกแล้วยังไม่ดีขึ้น ให้กลับไปพบแพทย์คนเดิม บางทีมีการเปลี่ยนสถานที่รักษาบ่อยก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่ ก็คงต้องดูทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้องกัน ต้องย้ำเตือนโรคไข้เลือดออกจริงๆ ระยะแรกไม่ใช่โรคที่วินิจฉัยได้ง่าย ต้องให้ความใส่ใจและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ จะย้ำเตือนและมีหนังสือสั่งการไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดให้ใส่ใจเรื่องไข้เลือดออกเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน