กทม. เฝ้าระวังไข้เลือดออกในชุมชน แนะประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ 5 ป. 1 ข. และมาตรการ 3 เก็บ แนะแนวทางป้องกัน สังเกตอาการต่างจากโควิด

31 พ.ค. 66 – ที่ศาลาว่าการกทม. นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกทม.เปิดเผยว่า จากสถานการณ์และแนวโน้มการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯในปี 2566 สำนักงานเขตและศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ ได้ดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

โดยประสานความร่วมมือในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออก พร้อมทั้งจัดทำแผนจัดกิจกรรมจัดการสิ่งแวดล้อม Big cleaning ในชุมชนที่เป็นพื้นที่เสี่ยงทุกสัปดาห์ ทั้งบริเวณบ้านพักอาศัย สถานศึกษา ศาสนสถานภายในชุมชน และสถานที่ราชการ การสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ใส่ทรายทีมีฟอส คว่ำภาชนะ เก็บขยะที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

โดยผนวกกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมความรู้ให้แก่ประชาชนในการดูแลสุขลักษณะและจัดการสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ สำนักอนามัยยังร่วมมือกับภาคเอกชนจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น โครงการโรงเรียนติด Guard ห่างไกลไข้เลือดออก ผ่านโรงเรียนนำร่องที่อยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงสูง เพื่อให้ครูและนักเรียนได้เรียนรู้และรู้จักวิธีป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ และนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับที่บ้านและชุมชนของตนเอง เพื่อเป็นการเพิ่มมาตรการการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่สามารถป้องกันได้

รวมถึงได้ให้คำแนะนำที่ประชาชนสามารถลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของไข้เลือดออก ด้วยการเฝ้าระวังยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรค เช่น มาตรการ 5 ป. 1 ข. คือ ปิด ปิดหรือคว่ำภาชนะเพื่อป้องกันยุงไข่ เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในภาชนะให้สะอาดอยู่เสมอ ปล่อย ปล่อยปลาลงในอ่างเพื่อกินลูกน้ำยุงลาย ปรับ ปรับปรุงสภาพแวดล้อม ลดขยะและแหล่งน้ำขัง ปฏิบัติ ควรปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง และ ขัด ขัดล้างภาชนะก่อนเปลี่ยนน้ำใหม่เพื่อกำจัดไข่ยุงที่เกาะอยู่ภายในภาชนะ

หรือมาตรการ 3 เก็บ คือ เก็บบ้านไม่ให้รก เก็บขยะไปทิ้งอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เก็บน้ำโดยปิดฝาภาชนะให้มิดชิด ทำลายแหล่งน้ำขัง

นอกจากนี้ ยังมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และคำแนะนำแก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีป้องกันตนเอง และการสังเกตอาการของโรคไข้เลือดออกและโควิด-19 ในทุกกลุ่มเป้าหมายในทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง เช่น สื่อมัลติมีเดีย แอพพลิเคชัน

โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิต เช่น ผู้ที่มีโรคอ้วน มีโรคประจำตัว โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หากมีไข้สูงเกิน 2 วัน รับประทานยาแล้วไข้ไม่ลด หรือลดแล้วไข้กลับมาสูงอีก ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีอาการเลือดออกส่วนใหญ่พบที่ผิวหนัง

หากมีอาการ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นการเจ็บป่วยร่วมกันระหว่างไข้เลือดออกกับโรคโควิด-19 ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลและให้ทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) โดยให้หลีกเลี่ยงยาประเภท NSAIDs เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน