อาจารย์เภสัชฯ ยันกิน “กลูตาฯ” ช่วยผิวขาวยาก ทาก็ไม่ช่วยขาว เหตุไม่ใช่สารไวเทนนิ่งตามกำหนด อย. โครงสร้างสารไม่เอื้อดูดซึมเข้าผิว เตือนอย่าซื้อใช้ ห่วงซื้อขายออนไลน์ ส่อทำผิวลอกหน้าพัง

4 มิ.ย. 66 – ผศ.ภก.วีรวัฒน์ ตีรณะชัยดีกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องสำอาง ภาควิชาเภสัชกรรม สาขาเภสัชกรรมเทคโนโลยี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการกินและทากลูตาไธโอนช่วยผิวขาว ในเวทีเปิดบ้านสภาเภสัชกรรม คุยข่าวเล่าเรื่อง “เผยทุกปัญหาการใช้เครื่องสำอางในโลกโซเชียล” ว่า

การที่เอา กลูตาไธโอนมาใช้ในเรื่องผิวขาวนั้น เพราะมีการนำไปใช้เพื่อลดพิษจากยามะเร็ง และพบว่ากลูตาไธโอน สำหรับผู้ป่วยนั้นทำให้ผิวขาว จึงมีการเอามาใช้ทำเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

แต่หากดูจริงๆ ในเรื่องของการกินนั้น เราจะเห็นว่า ผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดมีกลูตาไธโอนขายเคลมว่าทำให้ขาวขึ้น หากดูโครงสร้างของกลูตาไธโอน จะพบว่าเป็นเปปไทด์ที่มีอะมิโนแอซิดมาต่อกัน 3 ตัว

สารพวกนี้เวลารับประทานเข้าไปจะถูกทำลายโดยเอนไซม์หรือกลไกของร่างกาย ร่างกายจะไม่ดูดซึมเข้าไปหรือดูดซึมเข้าไปน้อยมาก ดังนั้น จึงเป็นไปได้น้อยมากในเรื่องของการกิน

และเมื่อสิบค้นจากงานวิจัยก็พบว่า ความน่าเชื่อถืองานวิจัยที่ออกมาก็ยังมีคำถามอีกเยอะ การบอกว่ากินแล้วผิวขาวก็ยังเป็นอะไรที่บอกไม่ได้ชัดเจน แต่ถ้าดูจากหลักวิชาการก็เป็นไปได้น้อยมาก

“สุดท้ายกลูตาไธโอน กินเข้าไปก็จะถูกย่อย กลายเป็นอะมิโนแอซิด ร่างกายเอาอะมิโนแอซิดไปเป็นสารตั้งต้นสร้างกลูตาไธโอนในร่างกายได้ แต่จริงๆ ร่างกายเราสร้างกลูตาไธโอนได้เองอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งที่เรกานหลายอย่างก็มีอะมิโนแอซิดที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกลูตาไธโอนอยู่แล้ว

ดังนั้น จะกินหรือไม่ อยู่ที่ตัวเรา หากคิดว่า กินแล้วดีต่อสภาพจิตใจจะกินก็ได้ และปริมาณที่ทานกันในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็อยู่ที่ 250 มิลลิกรัม ก็เป็นปริมาณที่ค่อนข้างมีความปลอดภัย” ผศ.ภก.วีรวัฒน์กล่าว








Advertisement

ผศ.ภก.วีรวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องของการทากลูตาไธโอน เครื่องสำอางหลายแบรนด์มีการพูดถึงกลูตาฯ ขาวใส หากไปดูในฐานข้อมูลของกองเครื่องสำอาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การจะเคลมผลิตภัณฑ์ที่เป็นไวเทนนิ่ง กลูตาไธโอนไม่ได้อยู่ในลิสต์ของสารที่เป็นไวเทนนิ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพวกวิตามินซี เป็นต้น

แต่ทุกวันนี้พอพูดถึงกระจ่างใสก็จะเป็นตัวกลูตาฯ เพราะกระแสมา พอกลับไปดูงานวิจัยจริงๆ ก็ยังไม่พบงานวิจัยที่ชัดเจนว่า ทาผิวหนังแล้วทำให้ผิวหนังขาวได้อย่างชัดเจน ประกอบกับดูลักษณะของโครงสร้างกลูตาไธโอน ไม่ได้เอื้อให้ดูดซึมเข้าสู่ผิวได้ดี

เพราะฉะนั้น จึงเป็นการยากที่จะทากลูตาฯ ในผลิตภัณฑ์ครีมโลชั่นแล้วให้ดูดซึมไปจนถึงผิวหนังชั้นที่มีการสร้างเม็ดสี จึงเป็นไปได้ยาก

ด้าน ผศ.ภญ.อมราพร วงศ์รักษ์พานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องสำอาง ภาควิชาเภสัชกรรม สาขาเภสัชกรรมเทคโนโลยี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อีกตัวที่มีการขายกันทางออนไลน์ คือ กรดไตรคลอโรอะซิติก (TCA) บอกว่าเอามาทาแก้ฝ้า กระ หลุมสิว ติ่งเนื้อหูดนั้น ถามว่าจริงหรือไม่ ใช้ได้จริง ซึ่งปัจจุบันมีการขายและซื้อทางออนไลน์เยอะมาก ซึ่ง TCA เป็นกรดเข้มข้นสูงกว่า AHA หรือ HA ที่คุ้นเคยกัน ไม่ควรจะเอามาใช้ในเครื่องสำอาง

ดังนั้น คนที่จะใช้ TCA ต้องมีความรู้ความสามารถและได้รับการเทรนด์มา คือ แพทย์ผิวหนังที่มีความเชี่ยวชาญ เพราะแต่ละคนเวลาทาจะไม่รู้ว่าต้องใช้ความเข้มข้นเท่าไร ทานานเท่าไร ผิวเราสภาพอย่างไร ทาแล้วล้างออก มิเช่นนั้นอาจทำให้กรดกัดหน้ามากเกินไป ลอกผิวมากเกินไป ซึ่งเป็นสารที่ไม่อนุญาตให้ใส่ในเครื่องสำอาง อย่าซื้อมาใช้ หากมีปัญหาผิวหนังเหล่านี้ให้ปรึกษาแพทย์ผิวหนังจะดีกว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน