เลย ไข้เลือดออกระบาดเพิ่มสูงขึ้น อัตราป่วยสะสมเป็นอันดับ 1 เขตสุขภาพที่ 8 เตือน ประชาชน รีบป้องกันยุงลาย ลดความรุนแรง-เสียชีวิต

12 มิ.ย. 66 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกจังหวัดเลย สถานการณ์ไข้เลือดออกภาพรวมประเทศไทย ปี 2566 จากข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก ของกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ 1 ม.ค. ถึง 7 มิถุนายน 2566

พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 19,503 ราย เสียชีวิต 17 ราย จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงกว่ามัธยฐาน ย้อนหลัง 5 ปี อัตราป่วยสูงสุดพบในภาคใต้ (52.21 ต่อประชากรแสนคน) พบมากในกลุ่มอายุ 15-24 ปี (81.15%) จำนวนผู้ป่วยในระยะนี้สูงกว่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี และ สูงกว่าช่วงนี้ในปีที่ผ่านมาเป็น 3.8 เท่า

นายชาญชัย บุญอยู่ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย เปิดเผยว่า มีรายงานจากกลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย ว่าสถานการณ์ไข้เลือดออกจังหวัดเลย ปี 2566 สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 66 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 118 ราย อัตราป่วย 18.47 ต่อประชากรแสนคน โดยมีอัตราป่วยสะสมสูงเป็นอันดับ 1 ของเขตสุขภาพที่ 8 ยังไม่พบ ผู้เสียชีวิต

กลุ่มที่ป่วยสูงสุดคือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 15-19 ปี และกลุ่มอายุ 5 -9 ปี โดยอำเภอ ที่มีอัตราป่วยสะสมสูงสุดคือ อำเภอหนองหิน อำเภอด่านซ้าย และอำเภอภูหลวง ตามลำดับ สำหรับสถานการณ์ใน สัปดาห์ที่ 22 (วันที่ 28 พ.ค. – 3 มิ.ย. 66)

อำเภอที่พบผู้ป่วย 4 สัปดาห์ล่าสุด (สัปดาห์ที่ 19 – 23) ในพื้นที่ 8 อำเภอ คือ อำเภอด่านซ้าย อำเภอหนองหิน อำเภอภูกระดึง อำเภอภูหลวง อำเภอนาด้วง อำเภอเมือง อำเภอท่าลี่ และอำเภอวังสะพุง

การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ คาดว่า ช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูฝน เมื่อฝนตกลงมาจะมีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของ ยุงลาย ประกอบกับเป็นช่วงเปิดภาคเรียนของสถานศึกษาต่างๆ ทำให้มีการรวมตัวของเด็กนักเรียน โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก วัยเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการระบาดของโรคได้

จึงขอแนะนำให้ประชาชน ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านและโรงเรียนทุกแห่ง โดยใช้มาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค (โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา) ได้แก่ เก็บบ้าน/โรงเรียน ให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามา เกาะพัก เก็บภาชนะที่มีน้ำขัง เพื่อป้องกันยุงลายไปวางไข่ เก็บขยะภายในบริเวณบ้าน/โรงเรียน ให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

จัดกิจกรรมเสริมในการจัดการสิ่งแวดล้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในโรงเรียน เช่น กิจกรรม BIG CLEANING DAY รวมถึงการป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด ทั้งในบริเวณบ้านและโรงเรียน

ทั้งนี้ เมื่อประชาชน หรือบุตรหลาน มีอาการไข้สูงลอย ให้รับประทานยาลดไข้ หากทานแล้วไข้ไม่ลด หรือไข้ลดแล้วกลับมาสูงอีก ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ให้สันนิษฐานว่า เป็นโรคไข้เลือดออก และไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยเฉพาะยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน และไอบูโพรเฟน

นอกจากนี้ หากมีอาการ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหาร ปวดท้องร่วมด้วย อาจป่วยร่วมกันระหว่าง โรคไข้เลือดออกกับโรคโควิด 19 จะทำให้มีอาการทรุดหนักได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเมื่อมีอาการสงสัยให้รีบไปพบแพทย์ ทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน จะได้รับการรักษาที่เหมาะสม และจะช่วยลดความรุนแรงของการเสียชีวิตได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน