สะท้อนปัญหา ทารุณเด็กในสถานสงเคราะห์ ชี้ต้องแก้ทั้งระบบ เอาเด็กเป็นศูนย์กลางเพื่อประโยชน์สูงสุด แนะทำงานกับครอบครัวกับชุมชนของเด็ก

วันที่ 12 มิ.ย.2566 นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร แสดงความคิดเห็น กรณีการทารุณกรรมเด็กในสถานสงเคราะห์เด็กหญิงสระบุรี ด้วยการทำร้าย เฆี่ยนตี กล้อนผม กักขัง ขังในห้องมืด มัดมือมัดเท้า ให้นอนในห้องน้ำ เป็นเรื่องน่าสะเทือนใจ และไม่ควรที่จะเกิดขึ้นในสถานสงเคราะห์ที่เป็นที่พึ่งสุดท้ายของเด็กๆ

สถานสงเคราะห์แห่งนี้เป็นของรัฐบาล สังกัดกรมกิจการเด็กและเยาวชน มีเด็กหญิงอยู่ในการดูแล 280 คน แบ่งกันอยู่ในอาคารหรือบ้าน 4 หลัง กลุ่มที่ถูกกระทำความรุนแรงเป็นบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งผู้ดูแลหรือพี่เลี้ยงเป็นผู้กระทำและส่งเสริมการกระทำ โดยอ้างว่าเป็นกฎที่ตั้งขึ้นเพื่อลงโทษเด็ก

มีการสั่งย้ายผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ และดำเนินคดีต่อพี่เลี้ยงที่กระทำความผิด แต่ในประเทศไทย มีเด็กกว่า 120,000 คนอาศัยอยู่นอกบ้านในสถานรองรับต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น สถานสงเคราะห์ของรัฐและเอกชน โรงเรียนประจำและวัด มีหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นว่า เด็กที่เติบโตในสถานรองรับมักมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกทำร้ายและต้องเผชิญผลกระทบเชิงลบทั้งทางร่างกายและจิตใจเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง คือการไม่มีกลไกในการกำกับติดตามความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ในสถานรองรับ

ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 7 ระบุว่าเด็กต้องได้รับการดูแลเลี้ยงดูจากบิดามารดาของตน แต่เมื่อบิดามารดาไม่มี หรือไม่มีความพร้อมในการดูแลเลี้ยงดูเด็ก สถานสงเคราะห์ต้องทำหน้าที่นี้แทนให้สมบูรณ์ คือเป็นบิดามารดาให้เด็ก เป็นครอบครัวที่มีความรักและอบอุ่นให้เด็ก

แต่ในความจริงสถานสงเคราะห์จำนวนมากเป็นเพียงที่พักชั่วคราว ที่ควบคุมมีรั้วลวดหนามกั้นกันหนี เด็กไม่มีอิสระ ไม่มีความสัมพันธ์แบบบิดามารดากับเด็กอย่างแท้จริง แม้จะให้เด็กเรียกพี่เลี้ยงว่า แม่ ก็ตาม

กรมกิจการเด็กและเยาวชนจึงต้องทำแนวคิด เอาเด็กเป็นศูนย์กลางเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กอย่างจริงจัง โดยเป็นบ้านและครอบครัวที่อบอุ่นสำหรับเด็ก เพราะที่ผ่านมา ไม่ได้เอาเด็กเป็นตัวตั้ง แต่เอาระบบราชการ งบประมาณ เป็นตัวตั้ง

นอกจากนี้ต้องมีกฎระเบียบที่ชัดเจนเป็นแนวปฏิบัติแก่บุคลากรที่รับผิดชอบดูแลเด็ก เช่นมีระเบียบในการลงโทษเด็ก ดังที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า การลงโทษเด็กนักเรียนที่กระทำความผิด ทำได้ 4 อย่างเท่านั้นดังนี้คือ ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม








Advertisement

ทั้งต้องมีการอบรมบุคลากรตั้งแต่ผู้ปกครองจนถึงพี่เลี้ยงให้มีความรู้ความเข้าใจและทักษะ เกี่ยวกับการดูแลเด็ก เพราะในปัจจุบันพี่เลี้ยงเด็กเป็นตำแหน่งอัตราจ้างเหมาชั่วคราว ไม่สามารถเข้ารับการอบรมและพัฒนาในฐานะข้าราชการได้

เด็กๆในสถานสงเคราะห์เด็กหญิงสระบุรีส่วนมากมาจากครอบครัวที่มีปัญหา พ่อและแม่ติดยาเสพติด ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้ รวมทั้งมีการใช้ความรุนแรงกับลูก ญาติพี่น้องและชุมชนไม่สามารถรองรับและแก้ไขได้ จึงส่งมาให้สถานสงเคราะห์ของรัฐรับภาระนี้ ซึ่งสถานสงเคราะห์เองก็มีข้อจำกัดในการดูแลเลี้ยงดู

เนื่องจากสถานสงเคราะห์อยู่ในสังกัดของกรมกิจการเด็กและเยาวชน จึงทำหน้าที่เพียงการเลี้ยงดูเด็ก ไม่ได้ทำหน้าที่พัฒนาแก้ไขไปที่บิดามารดาและครอบครัว เพื่อให้มีความพร้อมในการรับเด็กกลับไปดูแล ขณะที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ซึ่งมีหน้าที่ดูแลครอบครัว แม้จะสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เช่นเดียวกัน ก็ไปทำงานเรื่องสตรี ความเสมอภาคของบุคคลเป็นสำคัญ

เมื่อสองกรมไม่มีการประสานกันอย่างชัดเจน ครอบครัวไม่มีการแก้ไข เด็กก็ต้องอยุ่ในสถานสงเคราะห์ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้กับคืนสู่ครอบครัว

ดังนั้นการที่มีชุมชนที่เข้มแข็งเข้ามารองรับดูแลเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าญาติพี่น้องและชุมชนช่วยกันรองรับทั้งการแก้ไขปัญหาของบิดามารดา และช่วยดูแลเลี้ยงดูเด็ก โดยมีส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. ทำงานด้วยกันใกล้ชิด โดยมีทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในพื้นที่ รวมทั้งฝ่ายปกครอง อำเภอและเขต ช่วยสนับสนุน จะทำให้เด็กได้รับการดูแลช่วยเหลือโดยไม่ต้องมาที่สถานสงเคราะห์ที่มีข้อจำกัดในการดูแล

ขณะเดียวกันสถานสงเคราะห์เองก็ต้องไม่ทำหน้าที่เพียงการให้ที่อยู่ที่กินกับเด็กเพียงเท่านั้น การทำงานกับครอบครัวกับชุมชนของเด็กก็มีความสำคัญที่ต้องทำงานด้วยกัน รวมทั้งการพัฒนาเด็กในด้านอื่นๆเพื่อเปิดโอกาสทางสังคมให้เด็ก

สถานสงเคราะห์เด็กหญิงสระบุรีแม้มีพี่เลี้ยงที่ทำร้ายการพัฒนาการของเด็ก แต่ก็มีผู้มีช่วยเหลือเด็กให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่ไม่มีการพูดถึงและไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจากผู้ปกครองสถานสงเคราะห์และกรมกิจการเด็กและเยาวชน

เมื่อปี 2559 นายอนุชิต กิจวานิชเสถียร หรือ โค้ชเกรียง อดีตนักปั่นจักรยานทีมชาติครูจิตอาสาได้เข้ามาสอนเด็กๆ ให้ปั่นจักรยาน หลังจากซ้อมประมาณ 1 เดือน ได้ส่งเด็กลงแข่งขัน บีเอ็มเอ็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น 2016 แต่เนื่องจากเด็กๆยังไม่เก่ง ทำให้ไม่ได้รางวัลติดมือกลับมาในการแข่งขันครั้งนั้น หลังจากนั้นอีกหนึ่งปี เด็กๆจากบ้านเด็กหญิงสระบุรีก็คว้าเหรียญรางวัลในการแข่งขันมาตลอด จนบางคนติดทีมชาติไทยและได้ไปแข่งนานาชาติ

เนื่องจากเด็กบางคนไม่มีเอกสารทางทะเบียน บางคนยังไม่ได้สัญชาติไทย ทำให้แม้ติดทีมชาติก็ไม่สามารถไปร่วมแข่งขันในนามทีมชาติไทยได้ สถานสงเคราะห์ฯร่วมกับเทศบาลพระพุทธบาท จึงดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านสถานะบุคคลให้เด็กทุกคนในสถานสงเคราะห์ ให้บัตรและสัญชาติที่ถูกต้อง

บทเรียนจากสถานสงเคราะห์เด็กหญิงสระบุรี ต้องนำไปสู่การแก้ไขทั้งระบบในเรื่องที่เป็นปัญหาของการดูแลเด็กในความรับผิดชอบของกรมกิจการเด็กและเยาวชน แต่ขณะเดียวกันการดำเนินการบางอย่างที่ดีเช่นการเล่นกีฬา หรือแก้ไขปัญหาสัญชาติของสถานสงเคราะห์นี้ ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง และขยายผลยังสถานสงเคราะห์อื่นๆด้วย

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน