ห่วงระเบิด ‘เขาลูกเล็กลูกใหญ่’ สตูล กระทบ มันนิ-อุทยานธรณีโลก-แหล่งน้ำซับซึม ชี้ขัด พ.ร.บ.แร่ สะท้อนมุมมองรัฐ มองภูเขาเป็นแค่หิน

ในวงสนทนา ก่อนที่(ภู)เขาจะหายไป จากเมืองอุทยานธรณีโลกสตูล ถ่ายทอดสดทางเพจ สื่อเถื่อน และเพจสภาประชาชนภาคใต้ มีผู้ร่วมสนทนาประกอบด้วย นายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย นายสมยศ โต๊ะหลัง กลุ่มรักจังสตูล นางสาวสุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม

หวั่นกระทบซากดึกดำบรรพ์ 6 ยุค

สมยศ โต๊ะหลัง ชี้ว่า สตูลมีการประกาศภูเขา 8 ลูก เป็นแหล่งหินเพื่ออุตสาหกรรม ในปี 2538-2540 ชาวบ้านหลายพื้นที่คัดค้านเพราะส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ต่อมายูเนสโกได้ประกาศให้พื้นที่ 4 อำเภอ ในจังหวัดสตูลเป็นพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล ในปี 2561

เนื่องจากสำรวจพบซากดึกดำบรรพ์ ทั้ง 6 ยุค ซึ่งพบที่เดียวในอาเซียน แต่ยังไม่มีการทบทวนแหล่งหินในจังหวัดสตูลว่าควรยกเลิกไหม ควรสำรวจแหล่งใหม่ไหม กรณีเร่งด่วนล่าสุดพื้นที่ใจกลางอุทยานธรณีโลกในอำเภอทุ่งหว้ากำลังจะได้รับการสัมปทานทำเหมือง เราจึงตั้งคำถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะทำอย่างไรต่อไป

ระเบิดภูเขา กระทบมันนิ

สมบูรณ์ คำแหง กล่าวว่า ภูเขา 8 ลูก ในจังหวัดสตูล ซึ่งถูกประกาศเป็นแหล่งหินเพื่ออุตสาหกรรม มีการขอสัมปทาน 4 ลูก และ 1 ใน 4 ลูก คือ เขาลูกเล็กลูกใหญ่ ที่มีความเสี่ยงเป็นภูเขาลูกแรกที่จะถูกระเบิดหลังจากสตูลได้รับการประกาศเป็นเมืองอุทยานธรณีโลก ถ้าหากมีการสัมปทานแหล่งหินจะทำให้เกิดความเสียหายกับอุทยานธรณีโลก ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ธรณีวิทยาในระดับโลกหรือไม่ ประเด็นนี้เรายังไม่ได้รับคำตอบที่ดีเท่าที่ควรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“เขาลูกเล็กลูกใหญ่เป็นแหล่งพำนักของกลุ่มชาติพันธุ์มันนิ ซึ่งในพื้นที่จังหวัดสตูลมีกลุ่มชาติพันธุ์มันนิประมาณ 200 ชีวิต มีการหมุนเวียนถิ่นที่อยู่อาศัย การหาของป่ากิน เรามีข้อสังเกตว่าทำไมเอกชนขอสัมปทานได้ง่าย ต่างจากพี่น้องมันนิ ซึ่งกำลังมีปัญหาที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร ทั้งที่อยู่อาศัยในป่ามายาวนาน

ในหลักการอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกไม่ได้พูดถึงเฉพาะแหล่งธรณีวิทยา แต่พูดถึงวิถีวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิม เรื่องนี้จังหวัดสตูลควรให้ความสำคัญ ในส่วน พ.ร.บ.แร่ ก็พูดถึงสมดุลของการทำธุรกิจแร่กับชุมชน” สมบูรณ์ กล่าว

แฉนักลงทุนอยากได้หินราคาถูก

ด้าน วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี สะท้อนว่า โจทย์คือนักลงทุนต้องการทำถนนในราคาถูก อยากได้หินราคาถูก ขอสัมปทานเหมืองหินในจังหวัด ค่าขนส่งจะได้ไม่แพง แต่ไม่มีหลักประกันว่าให้สัมปทานภูเขาในจังหวัดแล้วงบประมาณของรัฐในการทำถนนจะถูกลง งบประมาณทำถนนแถวนี้ 20 กว่ากิโลเมตร ประมาณ 800 ล้านบาท คิดเป็นกิโลเมตรละประมาณ 30 ล้านบาท รัฐได้ค่าสัมปทานทำเหมืองเท่าไหร่ สามารถเลี้ยงดูคนสตูลได้ไหม

“ถ้าคิดใหม่ในจินตภาพใหม่เก็บภูเขาไว้ทำท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานธรณีโลก หรือให้ชาวบ้านในพื้นที่สัมปทานทำโรงแรม ทำเกษตร เก็บค่าสัมปทานในราคาเท่ากันหรือต่ำกว่าทำเหมือง วิสัยทัศน์แบบนี้มันไปกันได้กับอุทยานธรณีโลกสตูล มีการปันประโยชน์ให้ทุกคน ภูเขาก็ยังอยู่ ต้นไม้ก็ยังอยู่ จินตภาพแบบนี้หลายคนคิดออก แต่รัฐคิดหน้าเดียว ในอดีตภูเขาลูกนี้ถูกกำหนดเป็นแหล่งหิน กลายเป็นชะงักว่าภูเขานี้ต้องถูกระเบิดเท่านั้น ทั้งที่ถ้าคิดใหม่ก็รีเซ็ตใหม่ได้ ถ้าติดที่กฎหมายก็แก้ได้ เหมืองหินที่เดิมใช้หมดหรือยัง เปิดที่ใหม่ใครได้ประโยชน์” วิโชคศักดิ์กล่าว

สะท้องมุมมองรัฐ มองภูเขาเป็นแค่หิน

ด้าน สุภาภรณ์ มาลัยลอย กล่าวว่า รัฐมองภูเขาเป็นหินอย่างเดียว แต่ชุมชนมองภูเขาแล้วเห็นศักยภาพในการใช้ประโยชน์และดูแล เช่น ภูเขาเป็นแหล่งต้นน้ำ เป็นแหล่งทรัพยากรที่เขาใช้ประโยชน์ รัฐธรรมนูญระบุว่าชุมชนมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรร่วมกับรัฐ โดยใช้ประโยชน์ได้ด้วย แต่ถูกตีความว่าทรัพยากรเป็นการบริหารของรัฐโดยแท้ ไม่มองว่าต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม จึงตัดสินใจผ่านกระบวนการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

เช่น กำหนดภูเขาบ้านเราเป็นแหล่งหินเพื่ออุตสาหกรรม การประกาศแหล่งหินไม่มีกระบวนการให้ชุมชนมีส่วนร่วม หลังจากกรมทรัพยากรธรณีสำรวจว่าเป็นภูเขาหินปูนก็มองแค่ศักยภาพแร่ ศักยภาพหิน แล้วกำหนดเป็นแหล่งหิน แต่การประกาศนั้นไม่ได้ประเมินมูลค่าอย่างอื่น

ปัจจุบันตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 การกำหนดแหล่งหินให้นักธุรกิจมาประกอบธุรกิจแร่ ต้องดูความสมดุล ในมิติเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อมด้วย ก่อนกำหนดต้องมาถามคนในพื้นที่ก่อน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็มีการถามเหมือนกันแต่ถามทางออนไลน์ ไม่ลงพื้นที่ แล้วคนอย่างชาวบ้านมันนิซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะต้องสูญเสีย เขามีส่วนร่วมไหม เขาอนุญาตให้เอาบ้านเขาเป็นแหล่งหินไหม กฎหมายเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วม

แต่กระบวนการของรัฐยังมองว่าตนเองมีอำนาจ ไม่ให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่ ทิศทางการพัฒนาต้องกระจายให้คนในพื้นที่ พื้นที่ตรงนี้มีคุณค่าเป็นพื้นที่อุทยานธรณีโลก ควรเป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ จังหวัดสตูลและคณะกรรมการแร่ควรสำรวจพื้นที่ ทบทวนแหล่งหิน ประเมินมูลค่าต่างๆ มาถามคนในชุมชน ตอบโจทย์คนสตูลมากกว่าตอบโจทย์บริษัท จากข้อมูลภูเขาแห่งนี้เป็นพื้นที่ต้นน้ำ มีแหล่งน้ำซับซึม มีน้ำไหลตลอด การประกาศเป็นแหล่งหินขัดกับ พ.ร.บ.แร่ ซึ่งหากเป็นแหล่งน้ำซับซึมต้องกันออกจากเขตแหล่งแร่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน