ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวสัมมนา “อนาคตชาวนาไทยกับการทำแบบใช้น้ำน้อย” ในการประชุมสัมมนางานวิชาการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งชาติครั้งที่ 16 ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการด้านการชลประทานและการระบายน้ำแห่งประเทศไทย (THAICID ) ว่า

กรมชลประทานได้เตรียมขยายผลการทำนาแบบใช้น้ำน้อยหรือการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นผลงานที่กรมชลประทานได้วิจัยและนำเสนอต่อที่ประชุมชลประทานโลกครั้งที่ 2 ปี 2559และได้รับรางวัลWatSave Awards ซึ่งจะสอดคล้องกับสภาวะอากาศโลกที่แปรปรวนมากขึ้น เป็นการลดก๊าซมีเธนในไร่นา นำไปสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของไทยและของโลกโดยฤดูทำนาที่เหมาะสมคือฤดูนาปรัง

“กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ฝนปีนี้จะสิ้นสุดกลางต.ค.66 อีกทั้งปรากฏการเอนโซ่สภาวะเอลนิโญ คาดว่าฝนจะน้อยกว่าค่าปกติ5% และปรากฏการณ์จะลากยาวถึงก.ค.- มี.ค. 67 ดังนั้นจะเห็นว่าภาคเกษตรต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป โดยแนวทางการส่งเสริมการทำนาเปียกสลับแห้งเป็นการประหยัดน้ำและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแนวนโยบาย BCG ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และข้อตกลง COP27 (Conference of the Parties ครั้งที่ 27) ไทยได้ประกาศเป้าหมายที่สำคัญคือ ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

ซึ่งงานวิจัยของนักวิชาการพบว่าหากทำนาเปียกสลับแห้งสามารถลดก๊าซคาร์บอนฯได้ 42 กก.ต่อไร่ ดังนั้นหากสามารถรณงค์ให้ชาวนาทำนาแบบเปียกสลับแห้งเหลือเพียง 8 ล้านไร่จากการทำนาปกติ 17 ล้านไร่ จะลดคาร์บอนฯได้ 357 ล้านกิโลกรัม และสามารถขาย Carbon credit กลับมาเป็นเงินให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง” ดร.ทวีศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้กรมชลฯได้ทำพื้นที่ตัวอย่างทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เชียงใหม่ อุบลราชธานี พิษณุโลก สุพรรณบุรี โดยผลข้อมูลจากอ่างเก็บน้ำแม่โก๋น จ.เชียงใหม่ พบว่าใช้น้ำเพียง 1,172 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) จากปกติ 1,500 ลบ.ม.

ซึ่งเมื่อนำมาคำนวนว่ากรณีการทำนาปรัง 17 ล้านไร่ หากทำนาแบบปกติใช้น้ำ 25,798 ล้านลบ.ม. แต่ถ้าทำนาแบบเปียกสลับแห้งจะใช้น้ำประมาณ 19,896 ล้านลบ.ม. ประหยัดน้ำได้ประมาณ 5,000ล้านลบม.ต่อปี หรือเท่ากับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ประมาณ 5 เขื่อน








Advertisement

ดร.วัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) กล่าวว่าการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง กรมชลฯได้ศึกษามาตั้งแต่ปี 55 และนำไปทดลองในแปลงต่างๆ และปี 59 ได้นำไปเสนอที่ประชุมชลประทานโลกจนได้รางวัลและหลายประเทศสนใจ ซึ่งในไทยเองนั้นมีภาคเอกชนได้นำไปใช้กับเกษตรกรในหลายแปลง ผลการเก็บข้อมูล พบว่ามีผลผลิตถึง 1,150 กิโลกรัมต่อไร่ มีกำไรประมาณ 1 หมื่นบาทต่อไร่ เพิ่มขึ้นกว่าการทำนาแบบปกติที่ผลผลิตประมาณ 700 กก.ต่อไร่และกำไรไม่ถึงพันบาท

นายบุญฤทธิ์ หอมจันทร์ เกษตรกรต้นแบบด้านข้าว จ.ชัยนาท กล่าวว่า เริ่มต้นด้วยการลองแบ่งพื้นที่ทำคู่กับการทำแบบปกติสามารถลดต้นทุนจากไร่ละ 3,800 บาทต่อไร่ เหลือ 3,150 บาทต่อไร่ ผลผลิตได้ 900 กก.ต่อไร่ แต่ลดการจัดการแมลง ผลผลิตถือว่าดีกว่าทำแบบเดิม นอกจากนั้นสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้อีกด้วยโดยตนเองไปสมัครและขายเอกชนได้ราคาไร่ละประมาณ 100 บาท อย่างไรก็ตามสิ่งที่รัฐต้องดำเนินการก็คือความชัดเจนของภาครัฐว่าเมื่อนาแห้งแล้วถึงเวลาได้น้ำต้องได้ตามที่ตกลงกันไว้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน