นักกฎหมาย ชี้ต้องคุ้มครองสิทธิเด็ก 126 คน ให้ได้เรียนได้อยู่อาศัยเพื่อพัฒนาอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ควบคุมผลักดันออกนอกประเทศ

วันที่ 7 ก.ค.2566 นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องให้รัฐดูแลคุ้มครองเด็ก 126 คน และให้การศึกษาตามหลักการ Education for all ทั้งพิสูจน์หาสัญชาติให้เด็ก ตลอดจนรอให้เหตุการณ์ในพม่าปลอดภัย จึงส่งเด็กกลับได้

จากกรณีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจนำเด็กนักเรียนจำนวน 126 คน ออกจากโรงเรียนในจังหวัดอ่างทองไปที่ชายแดนจังหวัดเชียงราย เพื่อฝากสถานสงเคราะห์ 5 แห่ง รอการตรวจสอบหาพ่อแม่ ก่อนส่งเด็กเหล่านี้กลับประเทศพม่า

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เมื่อ 18 ปีก่อน คือวันที่ 5 ก.ค.2548 คณะรัฐมนตรี มีมติขยายโอกาสทางการศึกษา ให้บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย สามารถเข้าเรียนใน สถานศึกษาได้ โดยไม่จำกัดระดับประเภทหรือพื้นที่การศึกษา ทำให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาทุกคน เรียกว่า Education for all ดังนั้นการนำนักเรียนออกจากโรงเรียนจึงเป็นการขัดมติคณะรัฐมนตรี

ด้าน พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่า ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่นำพาเด็กๆ มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการนำเด็กๆคืนให้ผู้ปกครองซึ่งยึดตามหลักฐานโดยต้องเป็นผู้ปกครองที่แท้จริง

เด็กทั้ง 126 คนมีอายุตั้งแต่ 7-16 ปี เรียนอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดอ่างทอง โดยผู้อำนวยการโรงเรียนได้ทำทะเบียนนักเรียนที่ไม่มีสัญชาติ (G code) แต่เมื่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอ่างทองตรวจสอบเพราะเห็นจำนวนที่มากผิดปกติ ทำให้พบว่ามีการนำเด็กจากประเทศพม่าเข้ามาเรียนจำนวนมาก และได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้อำนวยการโรงเรียนดังกล่าว และเตรียมผลักดันเด็กกลุ่มนี้กลับประเทศต้นทางทำให้ต้องออกจากการศึกษากลางคัน

เด็กเหล่านี้เป็นเด็กนักเรียนเก่าที่เรียนในโรงเรียนแห่งนี้มานานแล้ว 32 คน เป็นเด็กที่ย้ายมาจากโรงเรียนอื่น 20 คน และเป็นเด็กที่เข้ามาเรียนใหม่ 74 คน

ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เข้ามาตรวจสอบว่า มีการถูกชักจูง ถูกล่อลวง หรือถูกบังคับขู่เข็ญ รวมถึงมีการเรียกรับผลประโยชน์ ในการนำเด็กนักเรียน ที่ไม่ใช่สัญชาติไทย เข้ามาเรียนอย่างไรหรือไม่ รวมถึงมีการกระทำเพื่อให้ได้ประโยชน์ที่มิชอบอันเป็นการค้ามนุษย์หรือไม่

ขณะที่ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอ่างทอง กระทรวงศึกษาธิการก็ตรวจสอบว่ามีการนำเด็กเข้ามาเพื่อให้ตนเองได้รับผลประโยชน์จากเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวของเด็กนักเรียนหรือไม่

ผลจากการตรวจสอบของทั้งสองหน่วยงานก็ไม่พบการกระทำผิด เนื่องจากเด็กสมัครใจมาเพื่อเรียนหนังสือ และผู้ปกครองก็ยินยอมให้เด็กมาเรียน ไม่พบขบวนการแสวงหาผลประโยชน์กับเด็ก รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนและการอุดหนุนค่าใช้จ่ายทางการศึกษาก็มีให้เด็กนักเรียนเป็นปกติ ไม่มีการทุจริต

ด้าน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ออกมายืนยันว่า เด็กทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทยต้องได้รับการศึกษา ไม่ว่าเชื้อชาติไหน สัญชาติใด ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติสากลที่เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

ทางตำรวจสืบสวนสอบสวนแล้วจึงตั้งข้อหาความผิดตามกฎหมายคนเข้าเมืองแก่ผ.อ.โรงเรียนและผู้เกี่ยวข้อง ในข้อหานำพาคนต่างด้าวเข้าเมืองและให้ที่พักพิงคนต่างด้าว และเตรียมส่งกลับประเทศต้นทาง

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เด็กเหล่านี้เป็นชนกลุ่มน้อย จำนวนมากเป็นเผ่าอาข่า ซึ่งไม่ได้รับสัญชาติจากประเทศไทยและประเทศพม่า จึงเป็นคนไร้สัญชาติ ดังนั้นการส่งกลับคืนพม่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อาจจะเป็นปัญหา เพราะเมื่อไม่มีการรับรองจากพม่าว่าเป็นคนของตน พม่าก็ไม่สามารถรับเด็กเหล่านี้กลับอย่างถูกต้องได้

ประกอบกับปัจจุบันมีปัญหาการสู้รับระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย ทำให้ไม่มีความปลอดภัยในพื้นที่แถบชายแดนที่มีชนกลุ่มน้อยอยู่จำนวนมาก เด็กๆเหล่านี้จึงอาจเป็นผู้ลี้ภัยที่หลบหนีความยากลำบากและอันตรายมาสู่ประเทศไทย การผลักดันหรือส่งกลับเด็กเหล่านี้ไปสู่อันตราย เจ้าหน้าที่ทำไม่ได้เนื่องจากผิดกฎหมาย พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา

ตลอดถึงการส่งกลับผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ตามกฎหมายคนเข้าเมืองจะทำก็ต่อเมืองศาลพิจารณาถึงที่สุดแล้ว แต่หากจะส่งกลับก่อน ต้องเป็นกรณี เจ้าตัวสมัครใจ รับสารภาพว่าผิดจริง กลับแล้วมีความปลอดภัย ประเทศต้นทางยินดีรับกลับไปอยู่กับครอบครัว

แต่ในกรณีนี้เด็กๆอยากอยู่เรียนหนังสือ ไม่สมัครใจกลับพม่า ไม่ได้รับการรับรองความเป็นพลเมืองและสัญชาติจากพม่า ตลอดจนไม่มีความปลอดภัย และไม่มีสถานที่เรียนหนังสือที่ชัดเจนในพม่า จึงยังส่งกลับประเทศพม่าไม่ได้

อีกทั้งข้อหาการนำพาและให้ที่พักพิงยังอยู่ในชั้นตำรวจถือเป็นเพียงผู้ต้องหาเท่านั้น กฎหมายรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่า เมื่อคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด ผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ จะกระทำต่อผู้ต้องหาเสมือนผู้กระทำความผิดไม่ได้ ดังนั้นปัจจุบันในเรื่องนี้ทุกคนยังเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงยังไม่มีใครกระทำความผิดตามคนเข้าเมืองแต่อย่างใด

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเรียกร้องรัฐบาล กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการและตำรวจ ต้องคุ้มครองและปฏิบัติต่อเด็กอย่างผู้บริสุทธิ์ ให้ได้เรียนได้อยู่อาศัยเพื่อพัฒนาอย่างเต็มที่ ตลอดจนประสานงานกับประเทศพม่าในการพิสูจน์และรับรองสัญชาติให้เด็กเหล่านี้ รวมทั้งไม่ส่งเด็กเหล่านี้กลับขณะสถานการณ์ที่ยังไม่มั่นใจในความปลอดภัยอย่างเต็มที่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน