เผยผลตรวจเลือดเซรั่ม ‘พลายศักดิ์สุรินทร์’ หลังนำมารักษาที่ลำปาง วิเคราะห์โรคติดต่อ เผยตรวจซ้ำอีก 2 ครั้ง เมื่อครบ 15 วัน และ 30 วัน กักโรคอีก 22 วัน

เมื่อวันที่ 9 ก.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง รายงานความคืบหน้า สุขภาพ “ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์” อายุ 30 ปี ช้างไทยงายาว เพศผู้ที่มาจากประเทศศรีลังกา หลังไปเป็นทูตสันถวไมนตรีนานกว่า 20 ปี และเกิดเจ็บป่วย จึงพาเดินทางมารักษาที่ จ.ลำปาง ประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา

ขณะนี้ผ่านไปกว่าสัปดาห์ โดยเข้าสู่วันที่ 8 แล้ว ที่อยู่ภายในสถานที่แรกรับ ศูนย์วิจัย และเฝ้าระวังโรค ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง โดยทีมคณะสัตวแพทย์ รายงานผลการตรวจสุขภาพ ห้วงระหว่างวันที่ 2-9 ก.ค.ว่า ช้างกินอาหารได้ดี เฉลี่ยวันละ 120-200 กิโลกรัม ส่วนใหญ่เป็นอาหารจำพวกหญ้าสด โดยเสริมผลไม้ มะขามเปียก และเกลือ ในระหว่างมื้อ ช้างดื่มน้ำจากสายยางได้ดี

รวมทั้งการขับถ่ายเป็นปกติ เฉลี่ย 10-12 ครั้ง ครั้งละ 4-8 ก้อน ลักษณะก้อนมูลปกติ มีการย่อยอาหารปกติ ไม่มีกลิ่นเหม็นคาว หรือมีเศษเมือกปะปน ซึ่งเป็นระบบขับถ่ายที่ดี, ช้างนอนหลับพักผ่อนได้อยู่ในเกณฑ์ปกติ คือนอนครั้งละ 1-3 ชั่วโมง เฉลี่ยคืนละ 2 ครั้ง, สำหรับความสมบูรณ์ร่างกาย อยู่ในระดับ 3/5 ช้างเริ่มคุ้นเคยกับโทนเสียงของควาญช้างไทย และเข้าใจความหมายคำพูดที่ควาญช้างใช้สื่อสารได้ 1-2 คำ และช้างยอมรับให้ควาญสัมผัสตัว และขึ้นบนคอได้ในบางเวลา

ส่วนผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตามที่สัตวแพทย์ได้เก็บตัวอย่างเลือดเซรั่ม เพื่อตรวจวิเคราะห์โรคติดต่อ ในสัปดาห์ที่ 1 เมื่อแรกที่ช้างเข้าสู่กระบวนการเฝ้าระวังโรคติดต่อ ซึ่งในวันที่ 2 ก.ค. ส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการของสถาบันสุขภาพสัตว์ และศูนย์วิจัย และพัฒนาการสัตว์แพทย์ภาคเหนือตอนบน กรมปศุสัตว์

ผลปรากฏว่าไม่พบพยาธิในเลือด ไม่พบปรสิตในมูลช้าง, ไม่พบสารพันธุกรรมของเชื้อก่อวัณโรค, ไม่พบสารพันธุกรรมต่อเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์, ไม่พบแอนติบอดีต่อโรคฉี่หนู, ไม่พบแอนติบอดีแบบ non-structural protein ของเชื้อไวรัสโรคปาก และเท้าเปื่อย

นอกจากนี้ ยังไม่พบแอนติบอดีต่อเชื้อก่อโรคแท้งติดต่อ (Brucella abortus) ทั้งนี้ ในกระบวนการเฝ้าระวังโรคช้างตามระเบียบของกรมปศุสัตว์ กำหนดให้ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ ต้องอยู่ภายในพื้นที่ควบคุมอย่างน้อย 30 วัน และต้องผ่านการตรวจโรคตามที่ระบุต่อไปอีก

ซึ่งจะตรวจซ้ำอีกครั้ง ในการครบกำหนด 15 วัน และ 30 วันของการกักโรค ตามระเบียบการควบคุมโรคระบาดสัตว์ กรมปศุสัตว์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อบางชนิด เนื่องจากเป็นช้างที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งช้างจะเฝ้าระวังและกักโรคไปอีก 22 วัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน