ตร.ไซเบอร์ แจงคืบหน้าคดี อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ไทยไลอ้อนแอร์ ลวงกดลิ้งก์ดูดเงิน แจกตั๋วเครื่องบินฟรีฤดูกาลท่องเที่ยว พบเหยื่อกว่า 100 ราย เสียหายกว่า 150 ล้าน

เมื่อวันที่ 9 ก.ค.66 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ตามที่มีผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพส่งข้อความสั้น (SMS) มายังโทรศัพท์มือถือของตน แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ (Thai Lion Air) พร้อมกับข้อความในลักษณะว่า “ขอบคุณที่ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ท่านได้รับเที่ยวบินฟรี 1 ใบ” โดยให้กดลิงก์ที่แนบมากับข้อความดังกล่าว เพื่อเป็นการเพิ่มเพื่อนทางแอปพลิเคชันไลน์ ที่ใช้บัญชีชื่อว่า “Lion Air Group”

จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ติดต่อไปยังผู้เสียหายแจ้งว่า เป็นผู้โชคดีได้รับตั๋วเครื่องบิน ดอนเมือง-เชียงใหม่ แล้วหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม ผ่านเว็บไซต์สายการบินดังกล่าว ที่มิจฉาชีพปลอมขึ้น เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อติดตั้งแอปพลิเคชันดังกล่าว มิจฉาชีพจะให้เข้าไปกรอกข้อมูลส่วนตัว และตั้งรหัส PIN 6 หลัก

รวมถึงการให้สิทธิ์แอปพลิเคชันเข้าถึงข้อมูลที่ละเอียดอ่อน โดยผู้เสียหายส่วนใหญ่จะกรอกรหัส PIN ที่ซ้ำกับรหัสการทำธุรกรรมการเงินของธนาคารต่างๆ ทำให้มิจฉาชีพสามารถเชื่อมต่อระบบเข้ามาควบคุมโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย แล้วโอนเงินออกจากบัญชีธนาคารของผู้เสียหายทุกบัญชี ไปยังบัญชีม้าที่เตรียมไว้อย่างรวดเร็ว

ต่อมาพนักงานสอบสวน ได้รับคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย และสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ต้องหา ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน และฟอกเงิน”

จากนั้นเมื่อประมาณต้นเดือน มี.ค.66 มีปฏิบัติการภายใต้ “ยุทธการ Lion Air” นำโดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผบก.สอท.4 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.สอท.4 เข้าตรวจค้นร้านรับแลกเงินใน อ.แม่สอด จ.ตาก เนื่องจากมีความเชื่อมโยงทางการเงินโดยเป็นทั้งผู้เปิดบัญชีม้า และกลุ่มจัดหาทางการเงินหรือโพยก๊วน สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 4 ราย พร้อมตรวจยึดของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย

จากนั้นสืบสวนติดตามจับกุมผู้ต้องหาเพิ่มเติม 1 ราย อยู่ระหว่างหลบหนี 1 ราย กระทั่งพนักงานสอบสวน สรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา จำนวน 6 ราย เสนอไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาตามกฎหมายต่อไปแล้ว








Advertisement

ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อประชาชนจากภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแอบอ้างเป็นหน่วยงานต่างๆ หลอกลวงให้ประชาชนติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมเอาทรัพย์สินของประชาชน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนและปราบปรามการกระทำความผิด บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง

เพื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบในด้านงานป้องกันปราบปราม กำชับไปยัง พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดทำการสืบสวนสอบสวน ขยายผลหาความเชื่อมโยงในดดี ปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา บช.สอท. เร่งระดมกวาดล้างจับกุมผู้กระทำความผิด เร่งรัดการสอบสวนและการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ด้วยความรอบคอบและรัดกุม รวมถึงขยายผลไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ฝากเตือนไปยังประชาชนให้ระมัดระวังการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว หรือเมื่อท่านได้รับข้อความสั้น (SMS) แนบลิงก์อ้างว่ามาจากหน่วยงานต่างๆ ให้ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน อย่าหลงเชื่อเพียงเพราะเป็นข้อความที่ถูกส่งไปยังกล่องข้อความเดียวกับหน่วยงานจริงนั้นๆ

เนื่องจากมิจฉาชีพสามารถปลอมแปลงชื่อผู้ส่งได้ ทั้งนี้ในปัจจุบันทุกธนาคารได้ยกเลิกการส่งข้อความสั้น (SMS) แนบลิงก์ไปยังประชาชนแล้ว หากท่านได้รับข้อความใดๆ เชื่อได้ว่าเป็นมิจฉาชีพอย่างแน่นอน และไม่ว่ามิจฉาชีพจะมาในรูปแบบใดก็ตาม ให้ระมัดระวังและมีสติอยู่เสมอ โดยหากพบเห็นข้อความสั้น (SMS) แนบลิงก์เข้ามาในลักษณะดังกล่าวให้แจ้งเตือนไปยังบุคคลใกล้ชิด และหน่วยงานนั้นๆ ให้ช่วยตรวจสอบทันที เพื่อลดการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางการป้องกัน ดังนี้

1.ไม่กดลิงก์ที่เเนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันต่างๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาพร้อมกับข้อความในลักษณะการให้สิทธิพิเศษ ได้รับรางวัล หรือให้โปรโมชันต่างๆ รวมถึงข้อความในลักษณะทำให้ตกใจ หรือเป็นกังวล เช่น ข้อมูลท่านรั่วไหล มีการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือผิดปกติ

2.หากได้รับโทรศัพท์จากบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ให้ขอชื่อนามสกุล และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับ โดยให้แจ้งว่าจะติดต่อกลับไปภายหลัง

3.ขอให้ตรวจก่อนว่ามาจากสายการบิน หรือหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ ให้ท่านขอรายละเอียดที่เกี่ยวข้องไว้ติดต่อกลับ หรือโทรศัพท์ไปสอบถามผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) ของหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง

4.ระวังไลน์ทางการปลอม โดยสังเกตบัญชีที่ผ่านการรับรองจะมีสัญลักษณ์โล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน หากเป็นโล่สีเทาหรือไม่มีโล่เลยจะเป็นบัญชีทั่วไปยังไม่ได้ผ่านการรับรอง ต้องตรวจสอบยืนยันให้ดีเสียก่อน มิจฉาชีพมักนำเอาสัญลักษณ์หน่วยงานนั้นๆ มาแอบอ้างเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

5.ไม่ติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด แม้จะเป็นโปรแกรมที่รู้จักก็ตาม เพราะอาจเป็นแอปพลิเคชันปลอม โดยหากต้องการใช้งานให้ทำการติดตั้งผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น

6.ไม่อนุญาตให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก หรือไฟล์ที่อาจเป็นอันตราย ไฟล์นามสกุล .Apk หรือซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตราย

7.ไม่อนุญาตให้เข้าถึงอุปกรณ์ และควบคุมอุปกรณ์ หรือโทรศัพท์มือถืออย่างเด็ดขาด

8.ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ ลงในลิงก์ หรือแอปพลิเคชันในลักษณะดังกล่าวโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรหัสผ่าน 6 หลัก ที่ซ้ำกับรหัสแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ

9.หากท่านเชื่อว่าได้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมแล้ว ให้รีบทำการ Force Reset หรือการบังคับให้อุปกรณ์นั้นรีสตาร์ต (ส่วนใหญ่เป็นการกดปุ่ม Power พร้อมปุ่มปรับเสียงค้างไว้) ในกรณีเกิดอาการค้างไม่ตอบสนอง หรือเปิดโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode) หรือปิดเครื่องเพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ถอดซิมการ์ดโทรศัพท์ออก หรือทำการปิด Wi-fi Router

10.อัปเดตระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

11.ไม่ควรเข้าใช้เว็บไซต์ที่ไม่มีความปลอดภัย เช่น เว็บพนัน, เว็บลามกอนาจาร เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน