สุราษฎร์ธานี สาธารณสุขจังหวัด เร่งควบคุมการแพร่ระบาด โรคไข้เลือดออก-ไวรัสซิกา หวั่นกระทบภาพลักษณ์ท่องเที่ยว สั่งพ่นยากำจัด พร้อมทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย

20 ก.ค. 66 – ที่ห้องประชุมสาธารณสุขอำเภอเกาะสมุย นายสิงห์ณกรณ์ ใจชื่น หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรค สาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วย นายสุริยา เชื่องช้าง สาธารณสุขอำเภอเกาะสมุย

ประชุมเพื่อหาแนวทางการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นพาหะนำเชื้อ โดยพบว่าพื้นที่ตำบลมะเร็ต ตำบลหน้าเมือง พบผู้ติดเชื้อโรคไข้เลือดออก และโรคไข้ซิกา จำนวน 5 ราย ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องเร่งป้องกัน และเฝ้าระวังการแพร่ระบาด

เพราะอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของเกาะสมุยได้ โดยทางสาธารณสุขอำเภอเกาะสมุยได้ร่วมกับชมรม อสม.อำเภอเกาะสมุย ลงพื้นที่เพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย พร้อมพ่นยากำจัดยุงลาย และให้ข้อมูลกับผู้ที่อาศัยในชุมชน

สำหรับโรคไข้ซิกา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งอยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงที่เป็นพาหะนำโรคไข้ซิกาเป็นชนิดเดียวกันกับยุงที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และไข้เหลือง

สาเหตุหลักของการติดเชื้อเกิดจากการโดนยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัด และช่องทางอื่นๆ ที่อาจเป็นไปได้ เช่น การแพร่ผ่านทางเลือด การแพร่จากมารดาที่ป่วยสู่ทารกในครรภ์ อาการของโรคไข้ซิการะยะฟักตัวของโรคไข้ซิกา ใช้เวลาเฉลี่ย 4-7 วันหลังโดนยุงกัด สั้นสุด 3 วัน และยาวสุด 12 วัน

อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ มีผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ซึ่งโดยปกติแล้วอาการเหล่านี้จะเป็นเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรง และเป็นอยู่ประมาณ 2-7 วันยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งอาจทำให้เด็กทารกที่คลอดมามีสมองเล็ก หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้ซิกาโดยเฉพาะ การรักษาทำได้ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ และรักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาพาราเซตามอล เพื่อลดไข้หรือบรรเทาอาการปวด








Advertisement

ทั้งนี้ห้ามรับประทานยาแอสไพริน หรือยากลุ่มลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เนื่องจากยาบางชนิดเป็นอันตรายสำหรับโรคนี้ โดยอาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น

วิธีการป้องกันโรคไข้ซิกา สามารถทำได้โดยระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด ใช้ยากำจัดแมลงหรือยาทาป้องกันยุงกัด นอนในมุ้ง ปิดหน้าต่าง ปิดประตู หรือใช้มุ้งลวดติดป้องกันยุงเข้าบ้าน สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวให้มิดชิด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายโดยการทำความสะอาด การเทน้ำทิ้ง หรือปิดฝาภาชนะที่สามารถบรรจุน้ำได้ เช่น กระถางต้นไม้ เพื่อป้องกันน้ำขังอันจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

หากมีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ หรืออาการที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ควรรีบปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาทันที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน