นครราชสีมา ชลประทาน 8 ระบุ 4 จังหวัด เอลนีโญยังกระทบน้อย ยันฤดูแล้งปลายปีมีน้ำกินน้ำใช้ไม่ขาดแคลน ย้ำทุกเขื่อน-ปชช.เก็บสำรองน้ำช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด สำรองน้ำต้นทุนไว้ใช้

26 ก.ค. 66 – นายธีระศักดิ์ ประหยัด ผู้อำนวยการส่วนบริการจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 8 จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ปัจจุบันปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์น้ำในพื้นที่ดูแล 4 จังหวัดมากนัก

โดยจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และ ศรีสะเกษ มีปริมาณฝนตกต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยเพียงเล็กน้อย ประมาณ 14 % ปริมาณฝนตกตั้งแต่ต้นปี 2566 ภาพรวมทั้ง 4 จังหวัดอยู่ที่ 490 มิลลิเมตร หรือคิดเป็น 38 % ของค่าฝนเฉลี่ยทั้งปีที่อยู่ประมาณ 1,200 มิลลิเมตร ส่วนสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำใน 4 จังหวัด รวม 76 แห่ง ปัจจุบันมีปริมาตรน้ำเก็บกักอยู่ประมาณ 800 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร หรือราว 47% จากความจุเก็บกักทั้งหมด

สำหรับ จังหวัดนครราชสีมา มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ 4 แห่งและอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอยู่ 23 แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีน้ำเก็บกักภาพรวม เหลืออยู่ 535 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 44 % ของความจุ ทั้งนี้ ในช่วงฤดูฝนปีนี้ ยังบริหารจัดการน้ำและระบายน้ำตามแผนที่วางไว้

ส่วนช่วงฤดูแล้งที่จะถึง วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ก็คาดการณ์ว่า จะมีน้ำต้นทุนคงเหลืออยู่ประมาณ 75 % ของความจุ ซึ่งในช่วงก่อนจะเข้าหน้าแล้ง อุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า อาจจะมีพายุเข้ามาอีกในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2566








Advertisement

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี มีปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำในภาพรวมประมาณ 461 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่า ก่อนจะเข้าสู่ฤดูแล้ง จะมีน้ำฝนมาเติมลงอ่างฯ เพิ่มอีก ซึ่งตั้งแต่ฤดูแล้งที่ผ่านมา ทางสำนักงานชลประทานที่ 8 ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำไว้ล่วงหน้า ได้ติดตามสภาพอากาศและวิเคราะห์คาดการณ์ปริมาณน้ำ เพื่อนำข้อมูลและสถิติมาวางแผนบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ซึ่งส่งผลให้สภาพน้ำในปัจจุบัน ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ พร้อมกันนี้ ได้วางแผนบริการจัดการน้ำล่วงหน้า 2 ปี ตามข้อสั่งการของสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สนทช.)เพื่อเตรียมพร้อมรับมือเอลนีโญ และปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้กำหนดเอาไว้ ซึ่งทางสำนักงานชลประทานที่ 8 ได้สั่งการให้บริหารจัดการน้ำและเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนปีนี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้เป็นน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้งถัดไป

สำหรับอ่างเก็บน้ำบางแห่งที่มีน้ำเก็บกักเหลือน้อย และไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติไหลผ่านพื้นที่ ได้เน้นย้ำให้บริการจัดการน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค มาเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ เพื่อรักษาระบบนิเวศ และเพื่อการเกษตร ตามลำดับ ซึ่งต้องมาดูว่าอ่างฯ ไหนน้ำเหลือน้อยมาก ก็ต้องขอความร่วมมือเกษตรกรให้งดการปลูกพืชฤดูแล้ง หรือให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อย เพื่อจะสำรองน้ำเอาไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศอย่างเพียงพอ

ปัจจุบัน ได้ให้เกษตรกรพยายามใช้น้ำฝน และชลประทานให้บริหารน้ำท่าที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสูด ถ้าหากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ขาดแคลนน้ำจริงๆ จึงจะเอาน้ำชลประทานไปเสริมให้ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน

สำหรับช่วงหน้าฝนปีนี้ พื้นที่ดูแลของสำนักงานชลประทาน 8 ได้วางแผนเพาะปลูกพืชในเขตชลประทานไว้ 1.2 ล้านไร่ ซึ่งยังเป็นไปตามแผนปกติ ตอนนี้ปลูกไปแล้วประมาณ 50 %

ขอยืนยันว่า สถานการณ์น้ำในปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีน้ำทำเกษตรอย่างเพียงพอตลอดช่วงฤดูฝน ส่วนหน้าแล้งที่จะถึงนี้ ยืนยันว่าน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน