รพ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ออกประกาศ เลื่อนการเก็บค่าบริการ ผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน 100 บาท เพื่อนำไปทบทวนอีกครั้ง หลังถูกวิจารณ์ยับ

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังทางรพ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ได้ออกประกาศกรณีที่จะเรียกเก็บค่าบริการทางการแพทย์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน สำหรับผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินทุกสิทธิ์ที่มารับบริการนอกเวลาราชการ โดยเก็บค่าบริการ 100 บาทต่อครั้ง โดยรพ.นางรอง ระบุว่า ในประกาศว่า

เป็นไปตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ที่นิยามผู้ป่วยฉุกเฉิน หมายถึง ผู้ป่วย หรือ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บซึ่งมีอาการบ่งชี้ว่าจะเป็นอาการที่คุกคามต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ หัวใจ สมอง การหายใจ จะต้องได้รับการรักษาและดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจทำให้เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว โดยกำหนดอากาศของโรคไว้ 12 ตัวอย่าง อาทิ หัวใจหยุดเต้น /หอบรุนแรง /มีการเขียวคล้ำ หรือ หมดสติไม่รู้ตัว เป็นต้น

หลังจากมีการเผยแพร่ประกาศดังกล่าว และถูกแชร์ออกไปเป็นวงกว้าง ก็มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ต่างวิพากษ์วิจารณ์ และไม่เห็นด้วยการประกาศดังกล่าว ที่จะมีการเรียกเก็บค่าบริการ หลายคนมองว่าเป็นการสร้างภาระเพราะมีสิทธิบัตรทองอยู่แล้ว ก็น่าจะครอบคลุมอยู่แล้ว

ล่าสุดงานประชาสัมพันธ์ รพ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ได้ออกประกาศฉบับล่าสุด โดยระบุว่า รพ.นางรอง จะดำเนินการทบทวน และศึกษาผลกระทบ สำหรับการเรียกเก็บค่าบริการทางการแพทย์ นอกเวลาราชการ โดยชะลอประกาศ โรงพยาบาลนางรอง ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2566 ออกไปก่อน

และจะดำเนินการพัฒนาคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการ Special Medical Clinic (SMC) ของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขให้ครอบคลุมบริการที่จำเป็น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น ลดความแออัดในเวลาราชการ โดยจะดำเนินการคู่ขนานไปกับคลินิก OPD นอกเวลาราชการตามปกติ

สำหรับผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 นิยาม ผู้ป่วยฉุกเฉิน หมายถึง ผู้ป่วยหรือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บซึ่งมีอาการบ่งชี้ว่าจะเป็นอาการที่คุกคามต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ ได้แก่หัวใจ สมอง การหายใจ จะต้องได้รับการรักษาและดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจทำให้เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว

เช่น 1.หัวใจหยุดเต้น 2.หอบรุนแรง 3.มีการเขียวคล้ำ 4.หมดสติไม่รู้ตัว 5.สิ่งแปลกปลอมอุดตันหลอดลม 6.มีอาการวิกฤติจากอุบัติเหตุ 7.มีเลือดออกมากห้ามไม่หยุด 8.ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง 9.แขนขาอ่อนแรงปากเบี้ยวพูดลำบาก 10.ชัก 11.มีอาการวิกฤติจากไข้สูง 12.ถูกสารพิษ สัตว์มีพิษกัด หรือได้รับยามากเกินขนาด เป็นต้น สามารถมารับบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านนพ.พิเชษฐ พืดขุนทด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ได้มีการแก้ไขประกาศของรพ.นางรองแล้ว โดยประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้ตามปกติตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้รพ.นางรอง ได้พัฒนาการบริการเป็นคลินิกพิเศษ เฉพาะทางนอกเวลาราชการ หรือ ที่เรียกว่า SMC

หากแล้วเสร็จจะมีการแจ้งว่ามีให้บริการเฉพาะทางด้านใดบ้าง และมีการสื่อสารกับประชาชนจนเข้าใจ จึงจะสามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ ส่วนสาเหตุที่รพ.นางรอง ประกาศเรียกเก็บค่าบริการทางการแพทย์ นั้นอาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดความสงสัย หรือ กังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน