นักกฎหมาย ชี้ระเบียบใหม่ เบี้ยผู้สูงอายุ ขัด กม. จี้ทบทวน กมธ.กิจการเด็ก เคยชง เดือนละ 3 พัน ติงภาครัฐจากสวัสดิการ กลายเป็นสงเคราะห์ผู้ยากไร้

วันที่ 16 ส.ค.2566 นายสุรพงษ์ กองจันทึก นักกฎหมายอดีตที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทย เร่งแก้ไขออกระเบียบเรื่องการให้เบี้ยผู้สูงอายุใหม่โดยเร็ว เนื่องจากระเบียบขัดต่อกฎหมายพระราชบัญญัติผู้สูงอายุแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาลงประกาศระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 โดยให้ยกเลิกระเบียบเก่า แล้วกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพเพิ่มเติมจากของเดิมว่า ต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนด

ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันมากถึงการเปลี่ยนแปลงจากการให้เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า เป็นให้เฉพาะผู้สูงอายุที่เป็นคนจน

ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุพบว่า เมื่อสิ้นปี 2565 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุทั้งสิ้น 12,159,926 คน โดยส่วนมากอยู่ในช่วงอายุ 60-69 ปี คือ 7,042,023 คน

และพบว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป ในปี 2548 เพียงร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ แต่ในปี 2564 ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) คือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ และในอีก 8 ปีข้างหน้า ปี 2574 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) คือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ

ข้อมูลนี้ชี้ว่าจำนวนและความสำคัญของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

สุรพงษ์ กองจันทึก

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เมื่อต้นปี 2566 คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร มีรายงานการศึกษาและแจ้งข้อเสนอแนะจากการศึกษาไปยังคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า คณะรัฐมนตรีควรต้องจัดสรรการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งไม่น้อยกว่า 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน อาจเพิ่มแบบขั้นบันได โดยตั้งต้นที่เดือนละ 1,500 บาทต่อคนต่อเดือน และเพิ่มปีละ 200 บาท จนกว่าจะเพียงพอต่อการดำรงชีพ

แทนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มจำนวนเงินจนให้เพียงพอต่อการดำรงชีพของผู้สูงอายุ กลับออกระเบียบจำกัดผู้สูงอายุที่มีสิทธิให้เป็นเพียงผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน

แม้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 48 วรรคสองจะระบุว่า บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่นั่นเป็นหลักประกันขั้นต่ำที่รัฐมีหน้าที่ดูแลประชาชน

เช่นเดียวกับเรื่องบริการสาธารณสุขจากรัฐที่แม้รัฐธรรมนูญมาตรา 47 วรรคสองจะระบุว่า บุคคลผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ประเทศไทยก็ให้คนไทยทุกคนไม่เพียงคนยากไร้สามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขั้นพื้นฐานโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ในเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประเทศไทยได้พัฒนาเป็นสวัสดิการสังคม ที่ให้กับผู้สูงอายุทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติมานานแล้ว โดยพระราชบัญญัติผู้สูงอายุแห่งชาติได้ระบุ ให้ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รัฐก็มีการจัดสรรให้เริ่มจากเดือนละ 600 บาท ซึ่งจำนวนที่ให้จะน้อยมาก จนหลายฝ่ายเสนอให้เพิ่มจำนวนเงิน

นายสุรพงษ์กล่าวว่า การลดความสำคัญของผู้สูงอายุจากการให้เงินสนับสนุนเป็น “สวัสดิการสังคม”แก่ทุกคน ถอยหลังไปเป็นการ “สงเคราะห์”ผู้ยากไร้ เป็นการพัฒนาที่ถอยหลังของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งดูแลเรื่องนี้โดยตรงต้องพัฒนาในเรื่องการจัดสวัสดิการสังคม กลับเห็นชอบดีงามกับการเปลี่ยนกลับไปสู่การสงเคราะห์เฉพาะผู้ยากไร้

เพราะแม้เป็นระเบียบของกระทรวงมหาดไทย กว่าจะออกมาได้ต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยต้องเร่งออกระเบียบใหม่ และยกเลิกระเบียบที่เพิ่งออกมา เพราะขัดต่อพระราชบัญญัติผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีลำดับชั้นสูงกว่า รวมทั้งรัฐบาลตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องเร่งพัฒนาสวัสดิการของรัฐในทุกๆด้าน ให้ครอบคลุม และเข้าถึงประชาชนทุกคน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน