นครราชสีมา กรมชลประทาน เปิดตัวโครงการชลประทานอัจฉริยะฯ แห่งแรกของไทย เขื่อนมูลบน หนุนอาชีพเกษตรกรรมสร้างรายได้สูงอย่างยั่งยืนในอนาคต

31 ส.ค. 66 – กรมชลประทาน โดย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้เดินทางมาที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เปิด “โครงการชลประทานอัจฉริยะเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม”

เป็นโครงการนำร่องแห่งแรกของประเทศ ที่นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยบริหารจัดการน้ำภายในเขตชลประทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการให้มีความรวดเร็ว ฉับไว ทันต่อเหตุการณ์ ทำให้การใช้ทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างคุ้มค่ามากที่สุด

พร้อมกันนี้ ได้เปิดแปลง “SMART FARM” แปลงสาธิตการเพาะปลูกพืชด้วยเครื่องมือเครื่องจักรที่ทันสมัย นำมาบริหารจัดการเพื่อเพิ่มผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ ทำให้การใช้น้ำเกิดประโยชน์สูงสุด และยังได้ร่วมลงแขกเกี่ยวข้าว ในแปลงนาสาธิตเปียกสลับแห้ง ร่วมกับผู้ที่มาร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย

ดร.ทวีศักดิ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการเกษตรของไทยให้มีความทันสมัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ ซึ่งกรมชลประทานในฐานะหน่วยงานหลักด้านการบริหารจัดการน้ำ ได้นำหลักการและนโยบายดังกล่าวมาปรับปรุงพัฒนางานด้านการชลประทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรน้ำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน

รวมทั้ง พัฒนาเกษตรกร Smart Farmer โดยมี Smart Officer เป็นเพื่อนคู่คิด ทำให้เกษตรกรไทยมีความพร้อมและมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร โดยนําเทคโนโลยีมาผสานกับภูมิปัญญา ปรับใช้ให้เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพ เพิ่มผลิตภาพการเพาะปลูกให้สูงขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการของตลาด มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ตลอดจน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ด้านนายณรงค์ มัดทองหลาง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน กล่าวว่า โครงการชลประทานอัจฉริยะเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวมนี้ ได้กำหนดพื้นที่นำร่อง 337 ไร่ เป็นแปลงต้นแบบเชิงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง โดยใช้ระบบชลประทานอัจฉริยะเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ นำเทคโนโลยีการวัดระยะไกล และ IoT หรือระบบ “RID Meesuk” มาใช้งานบน Smart phone ช่วยเก็บข้อมูลสภาพอากาศ ความต้องการใช้น้ำของพืช และระดับน้ำในแปลงนา เพื่อคาดการณ์ผลผลิตและความต้องการใช้น้ำ

รวมทั้ง สั่งควบคุมการปิด-เปิดอาคารชลประทานด้วยระบบการควบคุม SCADA ทำให้เกษตรกรมั่นใจได้ว่า จะได้รับน้ำเข้าแปลงนาได้ตรงเวลา ลดความคลาดเคลื่อนการจัดการน้ำ และลดความขัดแย้งการใช้น้ำของกลุ่มเกษตรกร ทำให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ยังสามารถลดต้นทุนการผลิต ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นบ่อเกิดของภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยสามารถขยายผลโครงการให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ชลประทาน ควบคู่กับการส่งเสริมเชิงพาณิชย์ ตลอดจนให้เป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากจากการเกษตรและความหลากหลายทางชีวภาพ

เพื่อให้เกิดการปรับโครงสร้างทางการเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นรูปธรรม ให้เป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจการเกษตรของประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่มาตรฐานการผลิตระดับสากล เพื่อให้อาชีพเกษตรกรรมสร้างรายได้สูงอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน