ศูนย์ฝึกสมอง รพ.จุฬาฯ ชี้ Social Connection ช่วยป้องกัน “อัลไซเมอร์” หนุน “สูงวัย” ติดเพื่อนติดสังคม ทำให้กลับไปมีชีวิตที่ไม่แก่ชรา อีกรอบ

6 ก.ย. 66 – ศูนย์ฝึกสมอง รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดงานนิทรรศการ “สังคมยุคใหม่…ใส่ใจอัลไซเมอร์” เนื่องในวันอัลไซเมอร์โลก ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ก.ย.ของทุกปี

โดย รศ.นพ.ม.ล.กรเกียรติ์ สนิทวงศ์ รอง ผอ.ฝ่ายบริการ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ปัญหาสุขภาพของผู้สูงวัยปัญหาหนึ่งคือ โรคอัลไซเมอร์ ซึ่งทั่วโลกมีมากขึ้นปัจจุบันมีประมาณ 55 ล้านคน และจะมีมากขึ้นในทุกๆ ปี

เราเห็นความสำคัญของอัลไซเมอร์ เพราะผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักมีปัญหาหลงลืม จำบุคคล สถานที่ไม่ได้ หลงทิศทางไม่รู้อยู่สถานที่ไหน เป็นปัญหาที่รักษาไม่ได้ การดูแลและป้องกันก่อนเกิดโรคหรือวินิจฉัยให้ได้ก่อนที่จะเป็นหรือเริ่มเป็นโรคแรกๆ มีความสำคัญมาก

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รพ.จุฬาฯ จึงตั้งศูนย์ฝึกสมอง ให้บริการสมาชิกที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัยระดับนานาชาติ โดยเรามีโมเดลฝึกสมองของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ รพ.จุฬาฯ ที่เป็นต้นแบบให้แก่สถาบันต่างๆ ทั้งไทยและต่างชาตินำไปใช้

วันนี้เราจัดงานวันอัลไซเมอร์โลก เพื่อให้ความรู้ประชาชน มีการจัดเสวนาให้ความรู้แลกเปลี่ยน โดยเราพร้อมสนับสนุนให้เกิดการส่งเสริมป้องกันกันตนเองและฟื้นฟูอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป








Advertisement

รศ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ หัวหน้าศูนย์ฝึกสมอง รพ.จุฬาฯ กล่าวในเสวนาหัวข้อเสวนา “สังคมเมืองกับผู้สูงวัย” ว่า จากการดำเนินงานศูนย์ฝึกสมองมา 7-8 ปี ค่อนข้างตรงกับงานวิจัยด้วย คือ หัวใจสำคัญของการฝึกสมองป้องกันอัลไซเมอร์ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือ Social Connection มีค่ามีความหมายมากกว่าทุกนวัตกรรมในศูนย์ฯ

ศูนย์ฯ เราเน้นหนักวิจัย ค้นหานวัตกรรมฝึกสมอง วิธีการใดก็ตามตั้งแต่ไลฟ์สไตล์ การกินอยู่ การฝึกสมอง เรามีหน้าที่หาสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนไทยและเผยแพร่ต่อ สิ่งที่เราได้และเห็นภาพว่าทำให้หลายคนที่นั่งวีลแชร์ลุกขึ้นยืนได้ หลายคนที่เงียบมีการพูดคุยกับลูกหลานครอบครัวสังคมได้ดี คือ เพื่อนที่มาทำกิจกรรมด้วยกัน เราทำได้วันละ 30 คน เราอยากให้เกิดภาพนี้ใน กทม.

ซึ่งวิถีผู้สูงอายุ กทม.ต่างจากต่างจังหวัด อย่างตอนลงไปดูวิถีผู้สูงอายุที่ อ.หล่มเก่า ไม่มีการดูแลที่ดีมาก แต่อยู่อย่างสบายมาก เพราะสังคม กทม.เป็นสังคมพิเศษ อย่างห้องข้างๆ ในคอนโดเป็นใครยังไม่รู้เลย แต่ว่าต่างจังหวัดลูกหลานไม่อยู่ ข้างบ้านมาดูแลให้ได้ เขาไม่ยอมอยู่กับลูกเพราะติดข้างบ้านมากกว่าลูก

“มีครอบครัวหนึ่ง คุณแม่เป็นอัลไซเมอร์อย่างรุนแรง แต่ทุกวันไปร้านกาแฟร้านหนึ่งได้ จำทางได้ ชีวิตเขามีความสุขคือครึ่งเช้า ไปคุยไปกินกาแฟ สนทนากันรู้เรื่องทุกอย่าง กลับมาเป็นอัลไซเมอร์ใหม่ที่บ้าน ไปหายที่ร้านกาแฟ เราอยากให้มีสังคมเช่นนี้ใน กทม. เราอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งลูกหลานตลอดเวลาก็ได้ แต่เรามีเพื่อนที่ไว้ใจและดูแลกันได้

อย่างในศูนย์ฯ เราประทับใจมาก บางท่านไปซื้อข้าวกินลำบาก เพื่อนในศูนย์ฯ จูงมือพาลงไป จนวันหนึ่งพากันโดดเรียนทั้งศูนย์ฯ ไปงานแสดงสินค้า เลยรู้สึกว่า เราอยากผลักดันเรื่อง Social Connection ซึ่งจะทำให้กลับไปมีชีวิตที่ไม่แก่และชราอีกรอบ” รศ.พญ.โสฬพัทธ์กล่าว

รศ.พญ.โสฬพัทธ์ กล่าวว่า วันก่อนมีอีกประสบการณ์ คือ มีงานคืนสู่เหย้าในคณะแพทยศาสตร์ อาจารย์อายุ 60-70 ปี กลับมาเหมือนสังคมเหมือนที่เราเป็นเด็ก เลยมีคนบอกว่าความทรงจำ ภาพ ความรู้สึกที่เราเป็นเด็ก เป็นสารต่อต้านความแก่ชรา เราไม่จำเป็นต้องรอพิเศษ การกระตุ้นสมอง การฝึกสมอง การใช้ชีวิต การมีสุขภาพดี อยู่ในทุกวินาที ไม่ต้องรออีเวนต์พิเศษ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยากให้เกิดในสังคมของเรา

ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า สังคมเมืองเราค่อนข้างชรา ซึ่งปกติมักจะมีการเทียบประเทศไทยกับญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นมีคนอายุมากเร็วกว่าเรา แก่เร็วกว่าเรา แต่สังคมญี่ปุ่นไม่ชรา แต่ไทยแก่ไม่เท่าเขาแต่เมืองเราชรา ที่ผ่านมาเมืองไม่เอื้อต่อผู้สูงอายุ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่เอื้อต่อทุกกลุ่มวัย การสร้างเมืองให้น่าอยู่เฉพาะกลุ่มไม่ง่าย การสร้างให้คนหลายกลุ่มก็ยิ่งยาก

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผู้สูงอายุอยู่ที่ 21-22% หากเจาะเฉพาะ กทม.มีประชากร 5.8 ล้านคนตามทะเบียนบ้าน มีอีก 2 ล้านคนมาจากภูมิลำเนาต่างๆ ที่เข้ามาทำงาน และอีก 2 ล้านคนที่มาจากปริมณฑลที่เข้ามาทุกเช้าก็มีประมาณ 10 ล้านคน คิดง่ายๆ 22% ก็มีผู้สูงอายุประมาณ 2.2 ล้านคน แต่ในแต่ละพื้นที่ก็ต่างกัน โดยจำนวนผู้สูงอายุอยู่ใจกลางเมืองถึง 28% รอบนอกก็ไม่ถึงลดลงไป แต่มีปัญหาเรื่องระยะทางในการเข้าถึงการดูแลต่างๆ ความยากคือการหา Care Giver คนดูแลผู้สูงอายุ อีกทั้ง กทม.เป็นสังคมเมืองไม่เหมือนที่อื่น มีความแตกต่างสูง เป็นเบี้ยหัวแตก

“เรามีชุมชน 2,017 ชุมชน จดทะเบียนกับ กทม. มีความหนาแน่นสูง เคยเป็นหมู่บ้านมาก่อน มีรากเหง้าเหมือนต่างจังหวัด อีกแบบก็มีหมู่บ้านเก่า หมู่บ้านจัดสรรใหม่ๆ ก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง สังคมมันเยอะมาก การทำให้ติดสังคมก็จะต่างกัน อย่างชุมชนจดทะเบียนก็จะรู้จักคนข้างบ้าน แต่มีปัญหาเศรษฐกิจ มีปัญหาในครอบครัว ทำให้ติดกันได้ไม่ยาก แต่มีเวลามาติดกันหรือไม่ ก็ต้องดูแลแบบหนึ่ง เรามีชมรมผู้สูงอายุก็พยายามผลักดันให้มากขึ้นเรื่อยๆ ให้ศูนย์บริการสาธารณสุขเข้าไปหาถึงบ้าน” ผศ.ดร.ทวิดากล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน