แพทย์ เตือน “มะเร็งต่อมน้ำเหลือง” พบได้บ่อยในคนไทยทุกช่วงอายุ เกิดกับต่อมน้ำเหลืองได้ทั่วร่างกาย เป็นซ้ำได้ หากเป็นชนิดรุนแรงต้องรับรักษาทันที หากไม่รักษาอาจเสียชีวิตใน 6 เดือน – 2 ปี

11 ก.ย. 66 – นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย พบได้ลำดับ 5 ในเพศชาย และลำดับ 9 ในเพศหญิง พบได้ทุกช่วงอายุแล้วแต่ชนิด พบได้ประมาณ 5,600 คนต่อปี

มะเร็งที่เกิดกับต่อมน้ำเหลืองเกิดได้ทุกบริเวณของร่างกาย ตั้งแต่ รักแร้ คอ ขาหนีบ ตามข้อพับ และในช่องอก ช่องท้อง นอกจากนี้แล้วเซลล์ต่อมน้ำเหลืองยังมีอยู่ทุกอวัยวะในร่างกาย สามารถเกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ทั้งสิ้น เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำไส้ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง เป็นต้น

ด้าน พญ.ศศินิภา ตรีทิเพนทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรศาสตร์โรคเลือด สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ต่อมน้ำเหลือง มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ภายในต่อมมีเม็ดเลือดขาวปริมาณมาก พบได้ทั่วทั้งร่างกายหลายร้อยต่อม ทำหน้าที่ในระบบภูมิคุ้มกัน คอยต่อสู้และปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม

โดยทั่วไปมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งที่มีการพยากรณ์โรคดี หากได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ผู้ป่วยมากกว่าครึ่งสามารถหายขาดได้และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทั้งนี้อาจขึ้นกับชนิดและระยะของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

คือ 1. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin lymphoma) ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณคอและช่องอก ให้การรักษาโดยการใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสง โอกาสหายขาดสูง และ 2. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-hodgkin lymphoma) พบมาก และแบ่งย่อยออกได้อีกประมาณ 30 ชนิด แต่แบ่งตามลักษณะการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้เป็น 2 แบบ คือ

(1) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดรุนแรง (Aggressive lymphoma) มีการแบ่งตัวและแพร่กระจายเกิดอย่างรวดเร็ว มีอาการรุนแรง ดังนั้นจึงตอบสนองกับยาเคมีบำบัดซึ่งออกฤทธิ์กับเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวอยู่ค่อนข้างดี กลุ่มนี้ต้องรักษาทันที หากไม่รักษาผู้ป่วยอาจเสียชีวิตใน 6 เดือน ถึง 2 ปี

แต่ถ้าได้รับการรักษาทันท่วงทีจะมีโอกาสหายขาดได้มากไม่ว่าจะอยู่ในระยะใดก็ตาม และ (2) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดค่อยเป็นค่อยไป (Indolent lymphoma) มีการแบ่งตัวและแพร่กระจายค่อนข้างช้า อาการเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่รุนแรงแต่เรื้อรัง กลุ่มนี้มักไม่ค่อยหายขาดด้วยเคมีบำบัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงรักษาเมื่อมีข้อบ่งชี้ และติดตามอาการเป็นระยะ

“สาเหตุของมะเร็งเกิดจากการกลายพันธุ์ของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมฟอยด์ โดยมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ การติดเชื้อทั้ง virus เช่น HIV, HCV, EBV การติดเชื้อ bacteria ที่ทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง พันธุกรรม ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำจากการได้รับยา สารเคมีที่มีสารก่อมะเร็งอยู่ เช่น สารกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น

การรักษาส่วนใหญ่ใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับยาพุ่งเป้า ฉายแสงในบางกรณี และปลูกถ่ายไขกระดูกกรณีที่กลับเป็นซ้ำ นอกจากนี้ ยังมีวิธีการรักษาใหม่สำหรับกรณีกลับเป็นซ้ำ คือ ใช้เซลล์บำบัด (CAR-T cell) ซึ่งยังอยู่ในช่วงการศึกษาวิจัยในประเทศไทย” พญ.ศศินิภากล่าว

สำหรับการดูแลตนเองในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา โดยรับยาเคมีบำบัด คือ ป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ง่ายและรุนแรง เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ต่ำลง จึงแนะนำให้รับประทานอาหารทำใหม่ สุก สะอาด ครบห้าหมู่ เลือกรับประทานผลไม้เปลือกหนา หลีกเลี่ยงสถานที่ชุมชนแออัด เสี่ยงต่อการรับเชื้อ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายตามความเหมาะสม หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทก เพราะช่วงที่รับยาเคมีบำบัดอาจมีเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งจะทำให้เลือดออกง่าย หากมีไข้ให้รีบไป รพ.

ส่วนการป้องกันมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ให้หมั่นสังเกตตัวเอง ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากเจ็บป่วยให้รีบไปรักษา หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีโดยตรง และรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน