นครราชสีมา ชาวบ้านเริ่มถอดใจ ที่พักสงฆ์ สร้างทับ โบราณสถาน กรมศิลปากร สั่งรื้อ ผ่าน 1 ปี ไม่ดำเนินการ กลับต่อเติมใหญ่โต ตัดพ้อหนักคงเสียปราสาทหินเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง

18 ก.ย. 66 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีตัวแทนชาวบ้านบ้านหลุ่งตะเคียน และบ้านตะเคียนทอง ตำบลหลุ่งตะเคียน อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา รวมตัวกันมายืนถือป้ายประท้วง บริเวณทางเข้าที่พักสงฆ์วัดโคกปราสาท ตำบลหลุ่งตะเคียน อำเภอห้วยแถลง

หลังจากเมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา เกิดกรณีพิพาทชาวบ้าน รวมตัวกันร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานราชการ เหตุที่พักสงฆ์ ปลูกสร้างอาคารคร่อมทับตัวปราสาทหินบ้านหลุ่งตะเคียน หรือปราสาทหินโคกปราสาท

จนทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้ามาท่องเที่ยว และประกอบพิธีกรรมความเชื่อที่สืบทอดกันมาได้ จนนำไปสู่การเข้ามาตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน กระทั่งมีคำสั่งกรมศิลปากร เมื่อ 29 ก.ย. 65 ให้ที่พักสงฆ์รื้ออาคารปฏิบัติธรรมที่ปลูกคร่อมทับลงไปบนตัวปราสาทหินออก ท่ามกลางความยินดีของชาวบ้านที่มีความหวังจะได้ปราสาทหินโบราณคู่บ้านคู่เมืองกลับคืนมา

แต่ล่าสุด หลังจากกรมศิลปากรมีประกาศคำสั่งฉบับดังกล่าว ผ่านมาแล้วเกือบ 1 ปี ก็ยังคงไม่มีการบังคับใช้ ทราบเบื้องต้นว่า ที่พักสงฆ์ได้ร้องศาลปกครองขอคุ้มครองคำสั่งของกรมศิลปากรฉบับดังกล่าวไว้ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งพิพากษา หรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ชาวบ้านจึงได้รวมตัวมาทวงถามกันอีกครั้ง

นางสำรวย สุทธิแพทย์ หนึ่งในชาวบ้านที่ออกมาเรียกร้องทวงคืนโบราณสถานฯ เปิดเผยว่า ในครั้งแรกที่ทราบว่า กรมศิลปากรได้มีคำสั่งให้รื้ออาคารปฏิบัติธรรมออกจากตัวปราสาทหิน ชาวบ้านต่างดีใจ คิดว่าคงจะได้ปราสาทหินโบราณคู่บ้านคู่บ้านกลับมาเป็นของชาวบ้านดังเดิม

จนมีการเตรียมงานเทศกาลบุญเดือน 6 ที่ชาวบ้านจะได้บวงสรวงดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่สิงสถิตอยู่ที่ปราสาทหินเหมือนเช่นที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา แต่กลับไม่มีการรื้ออาคารดังกล่าวเกิดขึ้น ชาวบ้านก็ต้องจัดงานที่ศาลากลางหมู่บ้านเช่นเดิม เพราะตั้งแต่มีการสร้างที่พักสงฆ์แห่งนี้ชาวบ้านไม่สามารถเข้ามาใช้พื้นที่ปราสาทหินจัดงานอีกได้เลย

จากเดิมชาวบ้านแทบจะทั้งหมู่บ้านเห็นด้วยกับการเรียกร้องทวงคืนปราสาทหินบ้านหลุ่งตะเคียน แต่เมื่อคดีเริ่มดำเนินไปโดยไม่มีท่าทีว่าชาวบ้านจะทวงคืนปราสาทได้โดยง่าย และแกนนำชาวบ้านหลายรายถูกแจ้งความดำเนินคดี ทั้งอั้งยี่ซ่องโจร แจ้งความเท็จ หมิ่นประมาทและคดีอื่นๆ อีกนับสิบคดี

ทำให้ชาวบ้านหลายรายเริ่มถอดใจ ไม่ขอต่อสู้เรียกร้องกันต่อ เนื่องจากในครั้งอดีตเมื่อหลายปีก่อน ขณะที่กำลังก่อสร้างอาคารปฏิบัติธรรมหลังนี้ ชาวบ้านก็เคยร้องเรียนไปที่กรมศิลปากร จนกระทั่ง กรมศิลปากรมีคำสั่งให้ที่พักสงฆ์หยุดการก่อสร้าง แต่ที่พักสงฆ์ก็ไม่ได้ปฏิบัติตาม ยังคงก่อสร้างต่อได้ จนขยายออกไปเรื่อยเป็นที่พักสงฆ์ขนาดใหญ่โตเช่นทุกวันนี้

ปัจจุบันเหลือชาวบ้านเพียงแค่หยิบมือเท่านั้นที่ยังคงเดินหน้าต่อสู้เรียกร้องกันต่อไป เพราะไม่อยากให้ปราสาทหินโบราณเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง ตกเป็นสมบัติส่วนตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน