นักวิชาการ มช. แนะรัฐทบทวน โครงการผันน้ำยวม เผยอีไอเอบกพร่อง-ขาดการมีส่วนร่วมแท้จริง ชาวบ้านส่งหนังสือถึงนายกฯ-ธรรมนัส แจงข้อมูลอีกด้าน หวั่นแหล่งไม้สักใหญ่ถูกทำลาย

วันที่18 ก.ย.2566 นายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ชาวบ้านแม่ทะลุ และผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่าจากกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2566 และอธิบดีกรมชลประทาน นำเสนอข้อมูลโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม หรือที่เรียกสั้นๆว่า โครงการผันน้ำยวม นั้นขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่ต่างรู้สึกกังวลใจยิ่ง เนื่องจากอาจมีการตีความว่านายกรัฐมนตรีให้เดินหน้าโครงการ โดยกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ชาวบ้านคัดค้านโครงการผันน้ำยวม

ทั้งๆ ที่เป็นข้อมูลในมุมเดียวของกรมชลประทาน ซึ่งแตกต่างจากความจริงที่ชุมชนกำลังเผชิญ ดังนั้นประชาชนในพื้นที่จึงรู้สึกกังวลใจ จึงไทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อชี้แจงข้อมูลจากฝั่งของประชาชนในพื้นที่ให้ทราบ

นายสะท้าน กล่าวว่า โครงการผันน้ำยวม มีโครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (4Ps) โดยพบว่า ค่าใช้จ่ายโครงการงานดำเนินงาน บำรุงรักษาและค่าลงทุนจะสูงถึง 2.1 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อยู่ระหว่างการดำเนินงานการศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 โกลโวลต์ลำพูน-สบเมย (ส่วนที่พาดผ่านพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1) ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวเนื่อง

“การดำเนินโครงการดังกล่าว ประกอบด้วยเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม ถังพักน้ำ สถานีสูบน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำผ่านป่าต้นน้ำลำธาร และสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของกฟผ. เราเห็นว่า ไม่มีความจำเป็น ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับหลักการจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำ ไม่มีการศึกษาอย่างครอบคลุมรอบด้านในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ และยังเป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินที่จะไม่เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าแต่อย่างใด” นายสะท้านกล่าว

ทั้งนี้เนื้อหาในหนังสือที่ชาวบ้านส่งถึงนายกรัฐมนตรี และ ร.อ.ธรรมนัส ระบุว่า อีไอเอไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการและหลักกฎหมาย โดยในรายงานมีช่องโหว่ในลักษณะดังกล่าวไม่สมควรเป็นฐานในการตัดสินใจเพื่อดำเนินโครงการนี้ เพราะขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

ไม่ได้รับข้อมูลอย่างชัดเจน ไม่มีการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นที่ครอบคลุมครบถ้วน ไม่ได้มีการแปลภาษา ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ภาษาชาติพันธุ์ แต่กลับไม่มีล่ามหรือการแปลภาษา ทำให้ผู้เข้าร่วมบางส่วนที่ได้เข้าประชุมไม่อาจเข้าใจได้ว่าโครงการเป็นอย่างไร และไม่อาจให้ความเห็นได้ และเกิดความเข้าใจผิดได้ ความเห็นต่างๆ ของผู้ได้รับผลกระทบก็ไม่ได้ถูกนำไปประกอบการพิจารณาในรายงาน EIA

นอกจากนี้ยังมีความไม่ชอบมาพากลของการจัดทำรายงาน กระบวนการจัดทำและเนื้อหาในรายงาน EIA ผิดพลาดจากข้อเท็จจริง ขาดความน่าเชื่อถือ ไม่มีความโปร่งใส การเก็บข้อมูลหลายครั้งเป็นเพียงการพบเป็นเวลาสั้นๆ หรือนัดพบผู้นำชุมชนในร้านอาหาร แล้วขอถ่ายรูปคู่ (ถ่ายรูปเซลฟี่) มิใช่การประชุมเพื่อจัดทำข้อมูลหรือข้อคิดเห็นตามมาตรฐานของกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม จนเป็นที่มาของ #อีไอเอร้านลาบ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เชื่อถือรายงานดังกล่าวจากผู้ได้รับผลกระทบและสาธารณะ

“ ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัดซึ่งจะได้รับผลกระทบยังไม่ได้รับรู้ถึงข้อมูลโครงการที่รอบด้านและเพียงพอ หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่เคยมาให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนแก่ประชาชนในพื้นที่ แม้จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่ก็จำกัดเฉพาะคนบางกลุ่ม แต่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง กลับถูกกีดกันอยู่วงนอก

การดำเนินโครงการจะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจาก ชาวบ้านจำนวนมากใน อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ผ่านประสบการณ์ที่เจ็บปวด จากการถูกเวนคืนที่ดินเมื่อครั้งก่อสร้างเขื่อนภูมิพลมาแล้ว

จวบจนปัจจุบันแม้เวลาผ่านไปแล้วกว่า 50 ปี กระบวนการการชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบก็ยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้นหากมีการดำเนินโครงการผันน้ำยวมมาอีก จะทำให้พื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนต้องได้รับผลกระทบอีก เท่ากับเป็นการซ้ำเติมชาวบ้านเป็นครั้งที่สอง” หนังสือระบุ

หนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและร.อ.ธรรมนัส ระบุด้วยว่าโครงการผันน้ำยวมจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ในการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีพด้วยการพึ่งตนเอง โดยความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบระยะยาวไม่เคยมีการศึกษาหรือรวมไว้ในต้นทุนของโครงการแต่อย่างใด และโครงการจะนำไปสู่การก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินซึ่งจะส่งผลกระทบข้ามพรมแดน

โดยนักการเมืองผู้ผลักดันโครงการ ระบุว่าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนฯ (ผันน้ำยวม) จะเป็นเพียงเฟสแรกของโครงการใหญ่ เฟสต่อไปคือสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำเมยและสาละวิน อันเป็นเขตพรมแดนไทย-พม่า ซึ่งเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ และอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้าน นายประโยชน์ เขื่อนแก้ว ชาวบ้านแม่เงา อ.สบเมย 1 ในผู้ที่ถูกระบุว่าจะได้รับผลกระทบในรายงานอีไอเอ กล่าวว่า ที่หัวงานเขื่อนที่จะสร้างกั้นแม่น้ำยวม สูงถึง 70 เมตร สองฝั่งแม่น้ำยวมบริเวณดังกล่าวเป็นป่าสักที่สมบูรณ์มาก ไม้สักต้นใหญ่ขนาด 3-4 คนโอบ

ป่าตรงนั้นไม่มีใครได้เข้าไปเห็น เพราะไปถึงยาก ไปเรือก็ไม่ถึง ทางรถก็ไม่มี ต้องเดินไป 2 วัน เดินไปตามลำน้ำยวมตามโขดหิน เดินขึ้นเขาไป มองมาเห็นมีแต่ไม้สัก ไม้ใหญ่ๆ ทั้งนั้น“ ชาวบ้านกล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร ภาควิชาสังคมศาสตร์กับการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ว่า ได้พบกับชาวบ้านในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการผันน้ำยวมก่อนที่อีไอเอจะผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ(บอร์ด)สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยชาวบ้านตกใจมาก เพราะไม่เคยรับรู้ข้อมูลมาก่อน

เวลาที่ตัวแทนของกรมชลประทานหรือเจ้าหน้าที่เข้าในพื้นที่ก็ไม่ได้อธิบายรายบละเอียดของโครงการให้ชาวบ้านทราบ หรือเมื่อตอนเปิดเวทีรับฟังก็เต็มไปด้วยศัพท์ทางวิศกรรม ซึ่งเรื่องของภาษามีอุปสรรคมากเพราะชาวบ้านเป็นชุมชนชาติพันธุ์ หากไม่มีล่ามท้องถิ่นแปลให้ชาวบ้าน เขาก็ไม่เข้าใจ ที่สำคัญชาวบ้านเล่าว่าเขาไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านซักถาม

ดร.มาลี กล่าวว่า จนกระทั่งทราบว่าอีไอเอผ่านบอร์ดสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านยิ่งไม่เห็นด้วยกับอีไอเอฉบับของกรมชลประทานเพราะประชาชนควรมีส่วนร่วมมากกว่านี้ แต่ที่ผ่านมาแทบไม่มีส่วนร่วมใดๆและเมื่อดูข้อมูลในอีไอเอยิ่งน่าตกใจเพราะอีไอเอไม่สะท้อนภาพความเป็นจริง ชาวบ้านไม่รู้จำทำอย่างไรต่อดีเพราะถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ก็ทำให้ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจขาดข้อมูลอีกชุดหนึ่ง

ดังนั้นคณะนักวิชาการของคณะสังคมศาสตร์เลยทำวิจัยอีกชุดหนึ่ง เพื่อบอกว่าชาวบ้านมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร และเอาข้อมูลในอีไอเอของทางการมาเปรียบเทียบว่า หากมีการสร้างเขื่อน อุโมงค์ สถานีสูบน้ำ ชีวิตของชาวบ้านจะเป็นอย่างไร โดยในเบื้องต้นพบว่ามีผลกระทบมากกว่าที่เขียนไว้ในอีไอเอมาก ชาวบ้านจึงอยากให้ผู้ที่กำหนดนโยบายได้เห็นความจริง

“ข้อมูลที่ได้มาชาวบ้านพบว่า พวกเขาพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ สามารถคำนวณเป็นรายได้จำนวนมาก แต่ในอีไอเอ ไม่ได้เขียนเอาไว้ อย่างอย่างกรณีของชาวบ้านแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ที่ชาวบ้านมีรายได้หลักจากการทำสวนลำไย และในอดีตพวกเขาเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนภูมิพลมาครั้งหนึ่งแล้ว

สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้เขียนเอาไว้ในอีไอเอ มันมิติด้านเศรษฐกิจมากกว่าผันน้ำไปภาคกลาง ชาวบ้านเขาอยู่กับป่า รักษาป่า หรือความรู้เรื่องพันธุ์ปลาและระบบนิเวศ ก็ไม่ถูกกำหนดในอีไอเอเลย ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าตัวตนของพวกเขาไม่ถูกระบุไว้ในอีไอเอ ทั้งๆที่เป็นโครงการขนาดใหญ่”ดร.มาลี กล่าว

อาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ฯ กล่าวว่า ในอีไอเอของกรมชลประทานพูดถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบปานกลาง-น้อย ซึ่งชาวบ้านไม่รู้ว่าเขาประเมินอย่างไร เช่น บอกว่าบริเวณสร้างสถานีสูบน้ำมีบ้านได้รับผลกระทบ 4 หลัง แต่ในความเป็นจริงเมื่อมีการก่อสร้าง จะมีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า 4 หลังแน่นอน และยังต้องมีการสร้างถนนที่จะเข้าไปขุดอุโมงค์และขนถ่ายอุปกรณ์ขุดเจาะ

เรื่องเหล่านี้ชาวบ้านจินตนาการไม่ออก ตอนที่เราเอาข้อมูลของกรมชลประทานไปชี้แจงชาวบ้าน เขารู้สึกงง เพราะอุโมงค์ใหญ่ขนาดรถแทรกเตอร์วิ่งสวนกันได้ แถมบนดินจะมีโครงการสร้างสายส่งอีก ทั้งข้างบนและข้างล่างมีโครงการขนาดใหญ่ ดังนั้นสภาพที่อยู่อาศัยและความเป็นอยู่ของพวกเขาต้องเปลี่ยนไปแน่นอน

“สิ่งสำคัญในอีไอเอของกรมชลประทานมองไม่เห็นชีวิตชาวบ้าน เมื่อพูดถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม พูดแต่เรื่องปลายน้ำจะได้ประโยชน์อะไร พื้นที่ทำนาในภาพกลางจะได้รับน้ำมากขึ้นหรือไม่ ทั้งๆที่เราเห็นอยู่แล้วว่าพื้นที่ภาคกลางมีน้ำท่วมทุกปี มีคำถามว่าแล้วจะผันน้ำไปอีกทำไม”ผศ.มาลี กล่าว

ดร.มาลีกล่าวว่า ขณะนี้งานวิจัยของชาวบ้านยังไม่แล้วเสร็จเป็นตัวหนังสือ แต่ถ้าใครต้องการทราบข้อเท็จจริงตนเองสามารถอธิบายให้ทราบได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากผู้มีอำนาจตัดสินใจต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับโครงการนี้จะแนะนำว่าอย่างไร ดร.มาลี กล่าวว่า ควรชะลอโครงการนี้ออกไปก่อน เพราะอีไอเอของกรมชลประทานไม่สะท้อนความเป็นจริง และควรมีกระบวนการจัดทำอีไอเอใหม่

เนื่องจากอีไอเอเดิมขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจริง ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมจริง และในทางวิชาการพบว่าระเบียบวิจัยเขียนอย่างหนึ่ง ไม่สอดคล้องกลับเนื้อหาในอีไอเอดังนั้นควรต้องกลับมาคิดใหม่ว่าการผันน้ำข้ามลุ่มมีความปลอดภัยหรือไม่ มีวิธีอื่นหรือไม่ที่ไม่ต้องขุดอุโมงค์ยาวลอดป่าถึง 60 กิโลเมตร

อนึ่ง การจัดทำอีไอเอโครงการผันน้ำยวมหรือชื่ออย่างเป็นทางการว่าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวมให้แก่กรมชลประทาน ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน