ชาวแม่ลาน้อย เตรียมจัดใหญ่ ต้านเหมืองฟลูออไรด์ มติ อบต.ค้านคำขออนุญาต บ.เอกชนใช้พื้นที่ หวั่นซ้ำรอยเดิม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

กรณี ชาวบ้าน อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน เคลื่อนไหวคัดค้านคำขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองฟลูออไรด์ ในพื้นที่หมู่ 4 ต.สันติคีรี อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน เนื่องจากหวั่นเกรงเรื่องผลกระทบ ซึ่งในอดีตเคยเกิดสถานการณ์เลวร้ายจากการทำเหมืองมาแล้ว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ก.ย.2566 นายจวน สุจา ตัวแทนชาวบ้านที่คัดค้านการประทานบัตรเหมืองให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือส่งกลับการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) เพื่อให้ตรวจสอบใหม่ โดยที่ผ่านมาชาวบ้านยังไม่สบายใจ เนื่องจากบริษัทเอกชนยังเดินหน้าขอประทานบัตรอยู่ ทั้งๆที่สำนักนายกรัฐมนตรีสั่งให้ระงับแล้ว

“ชาวบ้านเคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองมาตลอด ในโอกาสที่จะครบ 1 ปีของการคัดค้าน เราจะมีกิจกรรมปลูกป่าสืบชะตาแม่น้ำ รวมตัวกันครั้งใหญ่ในวันที่ 7 ต.ค.นี้ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมเสวนา ประกอบพิธีทางศาสนาทั้งพุทธและคริสต์

ซึ่งปีนี้จะมีการสวมเสื้อคัดค้านเหมืองแร่ด้วย เราจะประชุมชาวบ้าน ต.แม่ลาหลวง กับ ต.สันติคีรี ในวันที่ 23 กันยายน เพื่อวางแผนเตรียมการ จะทำป้ายใหญ่เป็นรูปหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรีไปติดไว้ตอนเสวนา” นายจวน กล่าว

ทั้งนี้เมื่อปี 2562 บริษัทเอกชนรายหนึ่ง ยื่นขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่ฟลูออไรด์ ซึ่งตั้งอยู่ใน หมู่ที่ 4 ต.สันติคีรี อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน พื้นที่จำนวน 114 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา โดยพื้นที่นี้เป็นเหมืองเก่าตั้งอยู่เขตป่าสงวนแห่งชาติและเป็นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 บี โดยมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ อยู่ห่างจากชุมชนบ้านห้วยตะพาบ ต.สันติคีรี ประมาณ 300 เมตร

ซึ่งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด(สอจ.)แม่ฮ่องสอน ติดประกาศการขอประทานบัตร ทำให้ตัวแทนชาวบ้านยื่นหนังสือคัดค้านต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และ สอจ.แม่ฮ่องสอน ก่อนจะประสบกับสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด

กระทั่งต้นปี 2565 บริษัทผู้ขอสัมปทาน ได้ว่าจ้างให้บริษัทเอกชนอีกรายหนึ่งจัดทำอีไอเอ โดยชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วม และปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล เพราะไม่เห็นด้วยกับการทำเหมือง นอกจากนี้ชาวบ้านออกมารวมตัวคัดค้านและขอให้ยุติโครงการ โดยการทำเหมืองแร่นี้คาดว่าจะมีชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างน้อย 5 ตำบล ได้แก่ สันติคีรี ,แม่ลาหลวง ,แม่โถ ,แม่นาจาง และขุนแม่ลาน้อย

ด้าน นายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน กล่าวว่า จากที่เราเคยยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้ตรวจการฯส่งไปสำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือให้มีการทบทวน EIA ใหม่ เพราะชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม และไม่เข้าเวทีรับฟังความคิดเห็น หลังจากนี้เราจะใช้การรณรงค์ในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ จะจัดกิจกรรมสืบชะตาแม่น้ำลา คัดค้านเหมือง มีกิจกรรมปลูกป่า ปล่อยน้ำ และพิธีกรรมทางศาสนาทั้ง 4 ศาสนาตามความเชื่อของชาวบ้าน

“หลังจากนั้นจะเดินทางไปยื่นหนังสือ 3 แห่ง คือ 1.รัฐสภาเพื่อพบกับคณะกรรมาธิการที่ดินและป่าไม้ ตามเรื่องที่เราเคยยื่นหนังสือไปก่อนหน้านี้ 2.ยื่นหนังสือที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพื้นที่ป่าใน อ.แม่ลาน้อย มีความอุดมสมบูรณ์ไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรม และ 3. ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)ในประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิด้วย” นายสะท้าน กล่าว

นายวีรชัย ยืนยงนโคทร รองประธานสภา อตบ.สันติคีรี กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ก่อนได้มีการประชุมสภาฯ โดยมีวาระจากการที่บริษัทที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่ ได้ทำหนังสือมายัง อบต.เพื่อขอใช้พื้นที่ แต่ในวาระการประชุมเขียนไม่ชัดเจนเหมือนแค่อยากให้รับทราบ ตนจึงพูดในที่ประชุมว่าเหมือนมัดมือชกให้สนับสนุนการให้ใช้พื้นที่

ดังนั้นตนจึงได้เสนอในที่ประชุมให้มีการโหวตว่าใครจะเห็นชอบ ไม่เห็นชอบหรืองดออกเสียงในการขอใช้พื้นที่ ผลปรากฏว่าจากสมาชิก อบต.ที่เข้าร่วมประชุม 7 คน มี 4 คนไม่เห็นชอบให้ใช้พื้นที่ทำเหมือง 1 คนเห็นชอบ และอีก 1 คนงดออกเสียง

“ถ้าเราฟังเสียงชาวบ้านพบว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ประทานบัตรเหมืองหวั่นเกรงในเรื่องผลกระทบ ยิ่งการให้ประทานบัตรถึง 30 ปีเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่เราเคยมีบทเรียนเมื่อครั้งที่มีการทำเหมืองบริเวณต้นน้ำ ทำให้เกิดผลกระทบมากมาย

น้ำในลำห้วยขุ่นตลอดเวลาจนใช้ไม่ได้เลย แถมมีทรายไหลมาถมที่นาของชาวบ้าน บางช่วงมีปลาตายเยอะมาก ครั้งนั้นเขาเอาคนงานต่างด้าวมาทำงานด้วย ทำให้มีปัญหาเรื่องยาเสพติดเข้ามาในหมู่บ้าน วัว ควาย ของชาวบ้านหายไปหลายตัว”นายวีรชัย กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน