กอนช. บรรเทา น้ำท่วม 13 จังหวัดอีสาน มอนิเตอร์ 3 ลุ่มน้ำใกล้ชิดตลอดหน้าฝน แจ้งเหตุเตือนภัยล่วงหน้า 3 วัน มั่นใจบรรเทาภัยทางน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ทัน

วันที่ 25 ก.ย.2566 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานของประเทศไทยเมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดอุทกภัยใน 13 จังหวัด เช่น จังหวัดอุดรธานี สกลนคร อุบลราชธานี ขอนแก่น นครพนม อำนาจเจริญ และยโสธร ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งท่วมขังในหลายพื้นที่

อาทิ ด้านท้ายเขื่อนห้วยหลวงและริมฝั่งแหล่งน้ำธรรมชาติหนองหาร-สกลนคร จ.อุดรธานี ริมสองฝั่งแม่น้ำสงครามบริเวณ อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร ด้านท้ายลำน้ำก่ำ จ.นครพนม เขตเทศบาลเมืองอำนาจเจริญ ที่ลุ่มต่ำริมฝั่งลำน้ำยัง จ.ยโสธร เป็นต้น

ทั้งนี้ สทนช.ได้เร่งประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าแก้ไขสถานการณ์ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ ขณะเดียวกับที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังต่ำกว่าตลิ่งบริเวณเขื่อนปากแม่น้ำมูล จ.อุบลราชธานี จึงสามารถสูบระบายน้ำส่วนเกินลงแม่น้ำโขงได้ในอัตรามากกว่า 200 ล้านลบ.ม.ต่อวัน อ่างเก็บน้ำห้วยหลวงปรับลดการระบาย พร้อมกับปริมาณฝนตกที่ลดลง การเข้าช่วยเหลือวางกระสอบทรายกั้นน้ำ แจกสิ่งของจำเป็นแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านการสัญจร ทำให้ขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย

ขณะที่จุดเฝ้าระวังที่สถานี M7 อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำสูงกว่าระดับตลิ่ง 0.21 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยถึงทรงตัว ทางจังหวัดได้มีการดำเนินการแจ้งเตือนล่วงหน้าให้กับประชาชนในพื้นที่เคลื่อนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง พร้อมกำหนดพื้นที่อพยพประชาชนแล้วตั้งแต่ก่อนมีการประกาศแจ้งเตือนของ กอนช.ฉบับที่ 18/2566

“นอกจากการเข้าคลี่คลายสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว กอนช.ได้เฝ้าติดตามสภาพอากาศทางภาคอีสาน สถานการณ์น้ำฝนและน้ำท่าในทั้ง 3 ลุ่มน้ำหลักอีสาน คือ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล อย่างใกล้ชิดเพื่อทำการประเมินพื้นที่เสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ๆ มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วม พื้นที่ชุมชนเมือง เพื่อบูรณาการข้อมูล วางแผนรับมือสถานการณ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เช่น กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดเตรียมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และสิ่งกีดขวางทางน้ำทั้งหมด รวมทั้งปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพฝนก่อนสิ้นฤดู ทั้งยังเตรียมการวางแผน
เก็บกักน้ำเพื่อเป็นน้ำต้นทุนในฤดูแล้งหน้าด้วย








Advertisement

อย่างไรก็ดี ด้วยสภาพอากาศที่ผันผวน หากเกิดสภาวะวิกฤติ กอนช.จะได้ออกประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยก่อนเกิดเหตุล่วงหน้าเป็นเวลา 3 วัน เพื่อการเตรียมความพร้อมอพยพ พร้อมกับศูนย์อำนวยการน้ำส่วนหน้าพร้อมออกปฏิบัติการเข้าประจำการพื้นที่เสี่ยงหากเกิดกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนเพื่อให้การช่วยเหลือทันเหตุการณ์

คาดว่าจะช่วยบรรเทาภัยทางน้ำให้กับประชาชนผู้อาศัยในพื้นที่เสี่ยงได้ล่วงหน้า ซึ่งขณะนี้ยังมีหลายพื้นที่ที่คงต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักต่อเนื่อง เช่น ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง พื้นที่ภาคตะวันออก และพื้นที่ภาคใต้ตอนบน เป็นต้น

ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า ฝนที่ตกลงมาทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศสะสมตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวน 3,081 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คาดการณ์ว่าภายในวันที่ 26 ก.ย.นี้ จะมีน้ำไหลเข้าอ่างฯขนาดใหญ่สะสมรวม 3,174 ล้านลบ.ม. ส่งผลดีต่อปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อใช้การฤดูแล้ง 2566/67

อย่างไรก็ดีมีการคาดการณ์ว่าเมื่อเริ่มฤดูแล้ง ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 จะมีน้ำใช้การทั่วประเทศจำนวน 2 หมื่นล้านลบ.ม. น้อยกว่าปีกลายอยู่ 1 หมื่นล้านลบ.ม.

จึงต้องวางแผนการใช้น้ำอย่างรัดกุมและเสนอมาตราการรองรับต่อคณะกรรมการน้ำแห่งชาติเพื่อให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้หน่วยงานต่าง ๆ ถือปฏิบัติต่อไปจึงขอให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อม ตรวจสอบความมั่นคง อาคารป้องกันริมน้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยง ประชาสัมพันธ์ข้อมูล และแจ้งเตือนประชาชน เตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ และปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำปัจจุบัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน