ร้อยเอ็ด ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ประกาศเตือน 8 อำเภอ เฝ้าระวังน้ำชีล้นตลิ่ง เหตุเขื่อนลำปาว ปรับเพิ่มการระบาย น้ำวันละ 8.64 ล้านลูกบาศก์เมตร

26 ก.ย. 66 – นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด มอบหมายให้ นายธรณิศ เทพแพงตา เลขากองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด ประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์ลำน้ำชีล้นตลิ่ง (ฉบับที่ 2) ลงนามโดย นายสนอง ดลประสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการจังหวัด ลงนามวันที่ 26 ก.ย. 2566 ดังนี้

โดยได้แจ้งถึงผู้อำนวยการ 8 อำเภอ ริมลำน้ำชี ได้แก่ ผู้อำนวยการอำเภอเสลภูมิ ผู้อำนวยการอำเภอพนมไพร ผู้อำนวยการอำเภอธวัชบุรี ผู้อำนวยการอำเภออาจสามารถ ผู้อำนวยการอำเภอโพธิ์ชัย ผู้อำนวยการอำเภอจังหาร ผู้อำนวยการอำเภอเชียงขวัญ และผู้อำนวยการอำเภอทุ่งเขาหลวง ให้เฝ้าระวังน้ำชีล้นตลิ่ง โดย สถานการณ์น้ำเขื่อนลำปาว และแนวทางการระบายน้ำ ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 22 กันยายน 2566 ว่า

ปัจจุบันยังมีฝนตกในพื้นที่ด้านเหนือเขื่อน จึงทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำอย่างต่อเนื่อง และจากค่าเฉลี่ยในเดือนตุลาคม จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ อีกประมาณ 240 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีการระบายน้ำ (Sevice Spillway) ในอัตราวันละ 7.00 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังไม่ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มลดลง

จึงมีความจำเป็นจะต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านอาคารระบายน้ำเป็นวันละ 8.64 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2566 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำลำน้ำปาวด้านท้ายเขื่อน มีระดับน้ำสูงอย่างต่อเนื่อง

จึงขอประกาศให้ประชาชนด้านท้ายเขื่อนบริเวณสองฝั่งลำน้ำปาว ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด จึงขอให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ ดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้

1. ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณลุ่มต่ำริมแม่น้ำ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำให้ทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมในการอพยพและเคลื่อนย้ายสิ่งของได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์ โดยขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด

2. ติดตาม ตรวจสอบ แนวคั่นบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมชุมชน 3. สร้างความรับรู้แก่ประขาชน โดยแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางการสื่อสารทุกช่องทาง

ตลอดจน กำชับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัคร แจ้งข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบและปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างทั่วถึงอีกทางหนึ่ง ให้รายงานผลการปฏิบัติงานในการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ให้จังหวัดร้อยเอ็ดทราบ

หากเกิดสาธารณภัยขึ้นในพื้นที่ให้รายงานสถานการณ์และความช่วยเหลือในเบื้องต้นทราบทันที เมื่อเกิดเหตุที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดร้อยเอ็ด หมายเลขโทรศัพท์ 04351-2955 โทรสาร 04351-3097 และรายงานทุกระยะจนกว่าสถานการณ์จะยุติ ตามแนวทางการรายงานเหตุด่วนสาธารณภัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน