ไข้หวัดใหญ่ โคราช 8 สัปดาห์ ป่วยเกือบ 6,000 รายแล้ว ขณะที่ 4 จังหวัด ในเขตสุขภาพที่ 9 ป่วยกว่า 22,000 ราย แนะสวมแมสก์ ฉีดวัคซีน ป้องกันเหมือน โควิด-19

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2566 นายแพทย์สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สสจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่จ.นครราชสีมา ยังมีรายงานผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูฝน สภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลง จึงทำให้ประชาชนเสี่ยงเกิดอาการป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจได้ง่าย หากไม่ดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองให้ดี

โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคประจำถิ่นที่มักพบการระบาดตามฤดูกาลในช่วงหน้าฝน และจะลดลงเมื่อเข้าฤดูหนาวแล้ว แต่ประชาชนยังต้องระวังป้องกันตนเอง เพราะช่วงฤดูหนาวสภาพอากาศจะเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส โควิด-19 ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นที่มักพบการระบาดในช่วงดูฤดูหนาว ประชาชนจึงนิ่งนอนใจไม่ได้

จากข้อมูลรายงานล่าสุดของสำนักงานควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ที่ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 25 กันยายน 66 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ทั่วประเทศมากถึง 216,600 ราย และมีเสียชีวิต 2 รายแล้ว โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 0-4 ปี และ 7-9 ปี ตามลำดับ ในขณะที่เขตสุขภาพสุขที่ 9 ซึ่งดูแล 4 จังหวัด

ได้แก่ จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ จ.บุรีรัมย์ และจ.สุรินทร์ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 25 กันยายน 66 มีผู้ป่วยสะสม 22,164 ราย ซึ่งสถานการณ์ของโรคในช่วง 8 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม ถึง 23 กันยายน 2566 พบผู้ป่วย จำนวน 13,568 ราย

พบมากในกลุ่มอายุ 5-9 ปี รองลงมาคือ 10-14 ปี และ 0-4 ปี ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง พบการผิดปกติของการเกิดโรคแบบมีนัย โดยมีผู้ป่วยสูงกว่าค่ามัธยฐานและสูงกว่าปี 2565

เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด ช่วง 8 สัปดาห์ย้อนหลัง (30 ก.ค.-23 ก.ย.2566) ในเขตสุขภาพที่ 9 พบว่า จังหวัดที่มีผู้ป่วยมากสุดคือจ.นครราชสีมา มีผู้ป่วย 5,942 ราย รองลงมาคือ จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วยอยู่ที่ 3,671 ราย จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 2,412 ราย และจ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 1,543 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเด็กและเด็กเล็ก

โดยตั้งแต่มีการประกาศให้โรค โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ประชาชนจะไม่ค่อยสวมหน้ากากอนามัยและป้องกันดูแลตนเองน้อยลง เมื่อเจอสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ภูมิคุ้มกันในร่างกายลด จึงมีความเสี่ยงเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจได้ง่าย ดังนั้น มาตรการป้องกันพื้นฐาน ทั้งการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย ยังมีความจำเป็นอย่างมาก

จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนป้องกันตนเอง ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เมื่อต้องออกไปอยู่ในพื้นที่ที่มีคนหมู่มาก หรืออยู่ในสถานที่ปิดที่ไม่ใช่บ้านของตนเอง ส่วนมาตรการป้องกันอาการป่วยรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต จะพุ่งเป้าไปที่กลุ่มเสี่ยง 607 และหญิงตั้งครรภ์ โดยบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดให้กับกลุ่มนี้ฟรี ที่สถานบริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลประจำอำเภอ

ส่วนประชาชนทั่วไปและกลุ่มเด็กเล็กยังไม่มีวัคซีนฟรีไว้ให้บริการ แต่สามารถไปขอรับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 300-800 บาท ซึ่งถ้ามีอาการป่วยครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดกล้ามเนื้อรุนแรง สงสัยจะเป็นไข้หวัดใหญ่ ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรับยาต้านไวรัส ป้องกันไม่ให้เชื้อลงปอดจนมีอาการป่วยรุนแรง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน