สระแก้ว ชาวตำบลหนองแวง 7 หมู่บ้าน มีมติเอกฉันท์คัดค้าน ไม่ให้สร้างฟาร์มหมู หวั่นกลิ่นมูลสุกร 5 พันตัว ฟุ้งกระจายทั่วชุมชน กระทบด้านสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ลูกหลาน

11 ต.ค. 66 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลาการเปรียญวัดหนองหล่ม อ.วัฒนานคร จ. สระแก้ว ได้เปิดให้มีการประชุมลงประชามติ เรื่องการก่อสร้างฟาร์มหมูในพื้นที่

โดยมีนางสาวกาญจนา วงศ์มณี ปลัดอำเภอวัฒนานคร นางสาววารุณีพงษ์ประเสริฐ นายก อบต.หนองแวง นายบุญลือ บุตรหนัน กำนันตำบลหนองแวง นายวีระ บุตรหนัน ส.อบต.บ้านหนองแวง นายสุทัศน์ สอนวันแดง ปศุสัตว์อำเภอวัฒนานคร นายนภาพล วสนาท ผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอวัฒนานคร

พร้อมจนท.ตำรวจ ผู้ใหญ่บ้านทั้ง7หมู่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านทั้ง 7 หมู่บ้านของตำบลหนองแวงได้เข้าร่วมประชุม และปรึกษาหารือเรื่องผลดีผลเสีย ซึ่งการประชุมในการสร้างฟาร์มหมูดังกล่าว มีตัวแทนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ,ตัวแทนปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

กรณีขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภท ฟาร์มสุกร ภายหลังมีการจัดประชาคมครั้งแรกที่ผ่านมานั้น ผลปรากฏว่า ไม่ผ่านประชาคม เนื่องจากมีการนำเด็กอายุไม่ถึง 18 ปี และชาวกัมพูชามายกมือประชาคม ส่งผลให้ต้องมีการจัดทำประชาคมใหม่ โดยบรรยากาศการประชาคมครั้งที่ 2 ระหว่างมีการลงทะเบียนผู้เข้าร่วมประชุม

ปรากฏว่า ระหว่างการลงทะเบียนทำประชาคม มีเจ้าหน้าที่ อบต.หนองแวง พยายามการกีดกันไม่ให้ชาวบ้านในหมู่อื่น นอกเหนือจาก 3 หมู่บ้าน ม.4 ,ม.3 ,ม.1 ในรัศมี 1 กม.จากจุดก่อสร้างฯ ทำให้เกิดปัญหาการถกเถียงกันขึ้น จนได้ข้อสรุป ให้ทุกคนใน ต.หนองแวง ซึ่งมีทั้งหมด 7 หมู่บ้าน สามารถเข้าร่วมประชาคมและร่วมโหวตได้ ตามประกาศขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวง

เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กรณีขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภท ฟาร์มสุกร ลงวันที่ 27 ก.ย.66 บนพื้นที่เกือบ 100 ไร่ ของนายทุนจากพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ทางด้านทิศตะวันออกห่างจากหมู่บ้านหนองหล่ม ม.4 ต.หนองแวง อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ประมาณ 1 กม.เศษ ซึ่งมีชาวบ้านในพื้นที่เข้าร่วมเวทีประชาคม ประมาณ 632 คน

นายสงัด สุพร ชาวบ้านต.หนองแวง กล่าวว่า ชาวบ้านในตำบลหนองแวง ได้ทำประกาศคัดค้านโครงการดังกล่าว และมีการติดป้ายคัดค้านทั่วหมู่บ้าน เนื่องด้วยทางบริษัท มั่นชื่อดี กรุ๊ป จำกัด จะมาเปิดโครงการฟาร์มเลี้ยงสุกรแม่พันธ์ขนาค 5,000 แม่ ของบริษัท เบทาโก ไม่รวมลูกสุกร และคาดว่า 1 แม่พันธ์ น่าจะมีลูกได้ 8 ตัว เมื่อรวมกันก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 40,000 ตัว

จึงเกรงว่าผลกระทบที่คาคว่า ชาวบ้านจะได้รับในระยะยาว ประกอบด้วย ปัญหา 1. แมลงวัน เป็นพาหะนำโรค เช่น โรคบิด โรคอาหารเป็นพิษ อหิวาต์ตกโรค 2. กลิ่นไม่พึงประสงค์และก๊าซไข่เน่า 3. น้ำเน่าเสียในคลองสาธารณะ 4. หมูส่งเสียงร้องดัง 5. น้ำอุปโภคบริโภคมีสารปนเปื้อน

ขณะเดียวกัน วัดในตำบลหนองแวงมีประมาณ 10 วัด โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 8 โรงเรียน โรงพยาบาลจิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลจิตเวชของภาคตะวันออก (คนละตำบลแต่ไกล้กัน) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ สำหรับเด็กผู้พิการและด้อยโอกาสใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก กำลังจะก่อสร้างคนละตำบลแต่ใกล้กันขอให้พี่น้องชาวบ้านในพื้นที่ตำบลหนองแวง ร่วมมือกันพิจารณา ผลเสียที่เกิดขึ้นต่อถูกหลานในอนาคต จึงขอให้พี่น้องชาวบ้านในพื้นที่ตำบลหนองแวง ออกมาลงประชามติไม่เห็นด้วยในการสร้างฟาร์มเลี้ยงหมู

ด้านนายนิรุตติ์ อุดมศิลป์ ผู้ประกอบการโครงการดังกล่าว ได้นำรายละเอียดโครงการมาชี้แจงให้ชาวบ้าน อาทิ รูปแบบโครงสร้างอาคาร การดำเนินการบ่อบำบัดน้ำเสีย บ่อแก๊ส ระบบบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งเปิดวีดิทัศน์รายละเอียดโครงการต่าง ๆ ให้ชาวบ้านได้รับทราบ ซึ่งเวทีดังกล่าวมีทั้งชาวบ้านที่สนับสนุนให้มีการก่อสร้าง และชาวบ้านที่คัดค้านการก่อสร้าง เนื่องจากเกรงว่า จะเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ซึ่งขณะเปิดเวทีให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่เข้าร่วมเวทีประชาคมฯ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการ โดยระบุว่า บ้านไหนที่อยู่ต่ำกว่ารัศมีต่ำกว่า 1,500 เมตร จะไม่สามารถก่อสร้างได้เลย อีกทั้งที่บอกว่า มีกลิ่นเล็กน้อย ซึ่งรับไม่ได้เลย อีกทั้งจะมีปัญหาแมลงวัน จนชาวบ้านไม่สามารถกินข้าวได้ ซึ่งมีปัญหามาแล้วในพื้นที่ภาคใต้ และ จ.ชัยนาท จ.เพชรบูรณ์ โดยถามชาวบ้านในพื้นที่ว่า ถ้าเกิดปัญหาจะทำอย่างไร ปิดทันทีเลยหรือไม่

นางสาววารุณี พงษ์ประเสริฐ นายก อบต.หนองแวง กล่าวว่า การที่มาทำประชาคมที่ผ่านมาชัดเจนว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทางบริษัทฯได้ทำหนังสือถึง อบต.ฯให้ทำประชาคมอีกครั้ง อยู่ที่ชาวบ้านจะเอาอีกหรือไม่เอาผู้ประกอบการก็ยอมถอยไม่สร้างอีกต่อไปทางเราขอยืนยันไม่มีประชาคมอีกต่อไป เพื่อความทุกข์ร้อนของประชาชนจะได้ไม่เดือดร้อน

อย่างไรก็ตาม ทางผู้ประกอบการได้ชี้แจงเพิ่มเติม และขอไม่ให้มีการโหวตเพื่อให้สามารถอยู่ด้วยกันได้ต่อไป ทำให้ นางวารุณี พงษ์ประเสริฐ นายก อบต.หนองแวง ได้ออกมาชี้แจงว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับทาง อบต.ให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย จึงให้มีการโหวตชาวบ้านที่เข้าร่วมเวที จำนวน 632 คน

ผลปรากฏว่า ชาวบ้านยกมือโหวตไม่เอาฟาร์มหมู จำนวน 541 คน เอาฟาร์มหมู จำนวน 91 คน และที่ประชุมมีข้อสรุปในการเปิดเวทีประชุมประชาคมรับฟังความคิดเห็นฯ ไม่ต้องการให้มีการก่อสร้างฟาร์มหมู่ในโครงการดังกล่าวต่อไป โดยใช้เวลาในการประชุมร่วม 2 ชม.เศษ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน