กะเหรี่ยงผืนป่าแก่งกระจาน 4 ชุมชน ยื่นหนังสือเรียกร้อง ทส.-อุทยานฯ แก้ไขร่างกฎหมาย-ระเบียบ ตัดสิทธิ ห้ามทำไร่หมุนเวียน

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 11 ต.ต.2566 กะเหรี่ยงแก่งกระจานดั้งเดิม จาก 4 ชุมชน คือ ชุมชนห้วยกระซู่ ชุมชนห้วยหินเพิง ชุมชนสาริกา ต.ยางน้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี และชุมชนป่าหมาก ต.ศาลาลัย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ยื่นข้อเรียกร้องต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม (กระทรวงทรัพยฯ) และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (กรมอุทยานฯ)

เพื่อให้ทบทวน แก้ไขร่างพระราชกฤษฎีกาและระเบียบที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนกะเหรี่ยงโดยตรง โดยมี นายติกร กิตตินันท์ หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับมอบหมายมารับหนังสือ

จากนั้นเวลาประมาณ 13.00 น. เดินทางไปยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยมี นายวีระยุทธ วรรณเลิศสกุล ผู้ตรวจราชการกรม และ นายอิทธิพล ไทยกมล อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นตัวแทนที่ได้รับมอบหมายมารับหนังสือ

ตัวแทนชุมชนกะเหรี่ยงแจ้งว่า ที่เดินทางมาในวันนี้ เนื่องจากทางชุมชนเคยยื่นหนังสือให้แก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินในรูปแบบแปลงรวมของชุมชนเพื่อทำไร่หมุนเวียนในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มาตั้งแต่ปี 2563

โดยขอให้เจ้าหน้าที่ทำการสำรวจรังวัดพื้นที่การใช้ประโยชน์ทำไร่หมุนเวียนในรูปแบบแปลงรวมของชุมชนมาตั้งแต่ก่อนครบกำหนด 240 วัน ตามมาตรา 64 และมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562

และยังจัดทำข้อเสนอยื่นต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เพิ่มเติมนิยามความหมายของการจัดที่ดินในลักษณะแปลงรวมของชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมว่า ให้ถือเอาวิถีการใช้ประโยชน์ด้วยการทำไร่หมุนเวียนของชุมชนเป็นการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ ตามความในมาตรา 64 และ 65 ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562

และให้บัญญัติรับรองการทำไร่หมุนเวียนในลักษณะแปลงรวมของชุมชนของชนเผ่ากะเหรี่ยงที่มีระบบการบริหารจัดการที่แน่นอน และได้มีกระบวนการหารือร่วมกันระหว่างอุทยานแห่งชาติในท้องที่แต่ละแห่งกับชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมแต่ละพื้นที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ








Advertisement

และเป็นส่วนหนึ่งของร่างระเบียบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการอยู่อาศัย และทำกินภายในอุทยานแห่งชาติเพื่อการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระเพื่อจัดทำแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองต่อไป

จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการ แต่กลับพบว่าเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติผ่านร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ….

ซึ่งมีผลบังคับใช้กับอุทยานแห่งชาติ 7 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ อุทยานแห่งชาติตาดหมอก อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว และอุทยานแห่งชาติลานสาง

โดยเนื้อหาของพระราชกฤษฎีกาที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติดังกล่าว ไม่รับรองสิทธิแปลงรวมของชุมชนในรูปแบบวิถีไร่หมุนเวียนตามที่ชุมชนเคยเสนอ

ตัวแทนชุมชนให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า หากกระทรวงฯ ยังคงไม่ได้นำเอาข้อเรียกร้องในการปรับปรุง ทบทวน แก้ไข ร่างพระราชกฤษฎีกาตามข้อเสนอที่ชุมชนเคยเสนอไว้มาบัญญัติรับรองไว้ในพระราชกฤษฎีกาและระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่กำลังจะออกใช้บังคับก็จะเป็นผลให้การทำกินตามวิถีไร่หมุนเวียนของชุมชนย่อมไม่สามารถจะกระทำได้

ผลที่จะติดตามมาคือการสูญเสียวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชนเผ่ากะเหรี่ยง ที่ทำกินด้วยการอุ้มชูดูแลความสมบูรณ์ของป่าไม้ต้องถูกยกเลิกเปลี่ยนไปเป็นการทำกินแบบเกษตรเชิงเดี่ยว กระทบต่อความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของทรัพยากรป่าไม้จะลดลง

ยิ่งกว่านั้นการให้สิทธิแก่เอกชนในการถือครองทำประโยชน์โดยไม่มีรูปแบบการทำประโยชน์ร่วมกันของชุมชนมากำกับดูแลยังจะกระตุ้นให้เกิดการขายสิทธิเปลี่ยนมือให้แก่บุคคลภายนอกชุมชน ผลเช่นนี้จะเป็นการทำให้ความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ในเขตอุทยานต้องเสื่อมถอยลง

นอกจากจะมีผลงานทางวิชาการทั้งจากภายในและต่างประเทศจำนวนมากให้ข้อมูลยืนยันสนับสนุนไว้แล้ว ในข้อนี้ชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิม ต.น้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ได้ทำการศึกษาวิจัยร่วมกับนักวิชาการเกี่ยวกับไร่หมุนเวียนกับผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

จากผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวพบว่า วิถีการทำกินแบบไร่หมุนเวียนช่วยให้พื้นดินเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ทั้งทางปริมาณและคุณภาพ สามารถเพิ่มการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าผืนป่าตามปกติ จะมีส่วนอย่างมากในการลดปัญหาโลกร้อนและเสริมคุณค่าทางสังคมให้แก่การดูแลผืนป่าของอุทยานแห่งชาติ วันนี้ชุมชนจึงต้องมายื่นหนังสืออีกครั้ง โดยมีข้อเรียกร้องต่อกระทรวงฯ และกรมอุทยานฯ ใน 4 ข้อ คือ

1. ขอให้กรมอุทยานฯ และกระทรวงฯ ทบทวนร่างพระราชกฤษฎีกาและระเบียบเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในเขตอุทยานแห่งชาติทุกฉบับ ทุกพื้นที่ ที่ยังมิได้มีการประกาศใช้

เพื่อปรับปรุงเพิ่มเติมเพิ่มการรับรองวิถีการทำกินและใช้ประโยชน์ที่ชุมชนทั้งหลายในอุทยานแต่ละแห่งได้เคยมีหรือยึดถือปฏิบัติกันมาก่อนรับรองไว้เป็นวิถีการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระเป็นบทบัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา

2. เพิ่มเติมบทบัญญัติที่ให้มีคณะกรรมการหรือคณะทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานอุทยานแห่งชาติร่วมกับตัวแทนของชุมชนที่ได้มาจากการหารือ คัดเลือก คัดสรร ของชุมชนกันเองอย่างเป็นอิสระ

เพื่อทำหน้าที่ร่วมกันกำหนดกฎกติกาในการใช้สอย ดูแล ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนทำหน้าที่เบื้องต้นในการเจรจาแก้ไขข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายอุทยานกับสมาชิกของชุมชน

3. กำหนดรับรองวิถีการทำกินแบบไร่หมุนเวียนของชนเผ่ากะเหรี่ยงและการกำหนดพื้นที่แปลงรวมเพื่อไร่หมุนเวียนรับรองไว้ในพระราชกฤษฎีกาให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของชนเผ่ากะเหรี่ยงในแต่ละพื้นที่

โดยเพิ่มเติมบทบัญญัติในร่างพระราชกฤษฎีกาและระเบียบกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชสำหรับพื้นที่ที่มีชุมชนดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงอยู่อาศัยมาก่อนจะต้องมีตัวแทนของชุมชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติในแต่ละแห่ง

4. ขอให้กระทรวงฯ และกรมอุทยานฯ มีคำสั่งแจ้งไปยังหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทุกแห่งในผืนป่าแก่งกระจานให้จัดการเดินสำรวจเก็บข้อมูลรวบรวมจำนวนสมาชิกชุมชน พื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชุมชนและวิถีการทำประโยชน์ของอุทยานแห่งชาติในเขตผืนป่าแก่งกระจานทุกแห่ง เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องที่มีอยู่แต่เดิมตั้งแต่คราว 240 วัน

รวมทั้งให้จัดการรังวัดสำรวจแนวเขตพื้นที่ที่ชุมชนประสงค์จะทำเป็นแปลงรวมไร่หมุนเวียนของชุมชน พื้นที่ป่าใช้สอยร่วมกันของชุมชน และพื้นที่ป่าพิธีกรรมของชุมชน โดยการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยาน และตัวแทนของชุมชนให้แล้วเสร็จแล้วนำมาประกอบการพิจารณากำหนดเงื่อนไขและวิธีการที่จะบัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาและระเบียบของอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน