สภาประชาชนภาคใต้ แถลงการณ์ จี้รัฐบาลทบทวนมติ โครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ขอให้ทำการศึกษาอย่างรอบคอบบนพื้นฐานข้อมูลที่รอบด้าน

วันที่ 18 ต.ค.2566 สภาประชาชนภาคใต้ และภาคีเครือข่าย แถลงการณ์ เรื่อง คณะรัฐมนตรีต้องทบทวนมติ และต้องพิจารณาความเป็นไปได้ที่แท้จริงของ โครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ความว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้พิจารณาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

โดยที่ประชุมได้รับทราบและมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) ใน การพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อนำมาประกอบในการจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุน เพื่อให้มีการร่วมลงทุนโครงการต่อไปนั้น

สภาประชาชนภาคใต้ มีความเห็นว่าการดำเนินการโครงการดังกล่าว กำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็วและรวบรัดจนประชาชนในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัด (ชุมพร และระนอง) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการโดยตรง แทบจะตั้งรับกับโครงการที่จะเกิดขึ้นไม่ทัน

อีกทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมและการรับรู้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงของโครงการยังอยู่ในพื้นที่จำกัดเฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น ทั้งที่โครงการเหล่านี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล และจะเกิดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่อย่างหนักในหลายมิติ ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม แหล่งท่องเที่ยว ที่ทำกินที่อยู่อาศัย รวมถึงสังคมและวิถีวัฒนธรรมที่อาจจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

ในขณะที่ภาครัฐและฝ่ายการเมืองที่พยายามผลักดันโครงการนี้ มักเลือกที่จะนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว ที่บอกว่าจะสร้างความเจริญและจะทำให้ระบบเศรษฐกิจของภาคใต้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น แต่กลับหลีกเลี่ยงที่จะไม่กล่าวถึงผลกระทบต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่

ทั้งยังมีความพยายามที่จะปิดกั้นและกล่าวหากลุ่มที่คิดต่างว่า “เป็นพวกถ่วงความเจริญ” หรือรับเงินต่างชาติมาคัดค้านการพัฒนาของประเทศไทย ซึ่งเป็นคำกล่าวหาที่เลื่อนลอย แต่กลับทำให้ประชาชนในพื้นที่จำนวนมากไม่กล้าแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ด้วยเพราะเกรงอิทธิพลจากคนบางกลุ่ม

ทั้งยังมีข้อเท็จจริงที่รัฐบาลจะต้องตอบให้ได้ว่า แนวคิดที่ต้องการพัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์เชื่อมทะเลทั้งสองฝั่ง (อันดามัน – อ่าวไทย) นั้น จะสร้างความคุ้มค่าคุ้มทุนได้จริงหรือไม่ กล่าวคือในเรื่องนี้เคยมีข้อสังเกตจากผู้ประกอบการเดินเรือระหว่างภูมิภาคว่า เป็นโครงการที่ไม่ได้ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงและอาจจะทำให้โครงการดังกล่าวล้มเหลวในที่สุด

เพราะไม่สร้างแรงจูงใจให้นักธุรกิจด้านโลจิสติกส์เข้ามาใช้บริการ ด้วยว่าไม่ได้ช่วยให้การขนส่งสินค้ามีความรวดเร็วและช่วยลดต้นทุนตามที่ภาครัฐกล่าวอ้าง

จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมติเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 และขอให้ทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างรอบคอบบนพื้นฐานของข้อมูลที่รอบด้าน ทั้งต้องศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างประเมินไม่ได้กับประชาชนในพื้นที่ในทุกมิติ ไม่ใช่แค่เอาใจนักการเมืองหรือผู้ที่จะได้ประโยชน์จากโครงการเพียงบางกลุ่มเท่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน