รมว.ชลน่าน เปย์ บุคลากรสาธารณสุข จับมือ 5 ธนาคารเอกชน ลุย ‘แก้หนี้-ลดดอกเบี้ย’ สร้างขวัญกำลังใจ มีความมั่นคง มีสวัสดิภาพ สวัสดิการ โยงนโยบาย Quick Win

27 พ.ย. 66 – ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานมอบนโยบาย “แก้หนี้ เสริมกำลังใจ ให้คนสาธารณสุข” ในการประชุมชี้แจงแผนงานความมั่นคงปลอดภัยทางการเงิน (Money Safety MOPH+) ต่อบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศ

โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รักษาราชการแทนรองปลัด กระทรวงสาธารณสุข นายวุฒิพงษ์ ภิรมยาภรณ์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 เป็นวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข ครบ 81 ปี ปัจจุบันมีบุคลากรทั้งหมดกว่า 5 แสนคน แม้ต่างสังกัด ต่างหน้าที่ แต่ก็ร่วมกันรับผิดชอบชีวิตและสุขภาพของประชาชนไทย ผ่านอุปสรรคและวิกฤตกันมาหลายครั้ง

ดังนั้น การสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ให้มีความมั่นคง มีสวัสดิภาพและสวัสดิการต่างๆ อย่างเหมาะสมทุกวิชาชีพ จึงเป็นหนึ่งในนโยบายหลักและนโยบายที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ (Quick Win)

“ผมพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น ทุกปัญหาอุปสรรค และมีความจริงใจที่จะเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาให้กับบุคลากร อย่างเรื่องเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด-19 ที่รองบประมาณเพิ่มเติมจาก ครม. ก็ได้ติดตามมาตลอด, เรื่องตำแหน่งงาน มีการช่วยเหลือบรรจุให้เสมอภาคทางสายอาชีพ ความก้าวหน้าทางสายงาน เช่น การกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพระดับชำนาญการพิเศษ การบรรจุผู้ได้รับจ้างงานอื่นตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพเข้ารับราชการ








Advertisement

รวมทั้งการแยกตัวออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา แต่กำลังเร่งดำเนินการ เพื่อให้อนาคตมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการกรอบอัตรากำลัง การทำผลงานวิชาการ ส่วนเรื่องภาระงานล้น บุคลากรน้อย การนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการทำงาน จะช่วยลดภาระงานได้ส่วนหนึ่ง” นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องกรอบอัตราเงินเดือนที่อยู่ระหว่างรัฐบาลประกาศปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เบื้องต้น กระทรวงสาธารณสุขจะช่วยเหลือในส่วนของบุคลากรที่เดือดร้อนเป็นหนี้ โดยมอบหมายให้ พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดูแลความเป็นอยู่และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของบุคลากรสาธารณสุข

ซึ่งจากการตั้งคณะทำงานเจรจาหาทางออกระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและธนาคารออมสิน ทำให้ได้ทางออกในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของบุคลากร เพื่อช่วยแบ่งเบาความทุกข์ในกลุ่มที่มีหนี้สิน ด้วยการพัฒนาระบบสร้างเสริมสุขภาพทางการเงินบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มการสร้างวินัยทางการเงิน โดยจัดให้มี “คลินิกรักษาสุขภาพความมั่นคงทางการเงิน” และจัดทำแผนความมั่นคงปลอดภัยด้านการเงิน (Money Safety MOPH+) 2 โครงการ คือ

1. โครงการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ดำเนินการใน 4 กลุ่ม คือ รีไฟแนนซ์ ซื้อบ้านหลังใหม่ ปลูกสร้าง และต่อเติมซ่อมแซม จากข้อมูลพบว่าบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข 15% เป็นหนี้บ้านประมาณ 2.5 ล้านบาทต่อคน ดอกเบี้ยประมาณ 4.6% เฉลี่ย 9,583 บาทต่อเดือน ซึ่งดอกเบี้ยโครงการนี้อยู่ที่ 2.6% จะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อคน 4,167 บาทต่อเดือน และลดค่าใช้จ่ายภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุข 3 พันล้านบาทต่อปี และ

2. โครงการสินเชื่อสวัสดิการและอื่นๆ 4 รูปแบบ คือ สินเชื่อสวัสดิการ : อุปโภคบริโภค/ชำระหนี้สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น, สินเชื่อ Salary เปย์ เพื่อบุคลากรภาครัฐ, สินเชื่อสวัสดิการโดยใช้บำเหน็จตกทอด และสินเชื่อรายได้ประจำสุขใจ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข 40% เป็นหนี้เฉลี่ย 2 แสนบาทต่อคน ดอกเบี้ยประมาณ 16% เฉลี่ย 2,666 บาทต่อเดือน

โดยดอกเบี้ยโครงการอยู่ที่ 6.459% จะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อคนได้ 1,584 บาทต่อเดือน และลดค่าใช้จ่ายภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุข 3,042 ล้านบาทต่อปี โดยทั้ง 2 โครงการ คาดว่าจะช่วยทำให้บุคลากรมีเงินเหลือเก็บ 5,751 บาทต่อเดือน และประหยัดค่าใช้จ่ายภาพรวมกระทรวงสาธารณสุขได้กว่า 6,042 ล้านบาทต่อปี

ด้าน พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ ที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข กล่าวว่า สธ.ทราบถึงปัญหาภาระหนี้สินที่เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและขวัญกำลังใจในการทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้วิกฤตที่ต้องได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วน จึงได้ตั้งคณะทำงานเจรจาหารือกับสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารทหารไทยธนชาต ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา รวมกว่า 2 เดือน

เพื่อให้ได้ข้อเสนอสวัสดิการทางการเงินที่ดีที่สุด ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย สร้างสภาพคล่องทางการเงิน เสริมกำลังใจ สร้างความมั่นคงให้ชาวกระทรวงสาธารณสุข เพื่อตอบแทนบุคลากรทุกคนที่ได้ทำหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเทเสียสละ ดูแลสุขภาพประชาชนคนไทยทั้งประเทศจนมีผลงานที่ดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ตลอดมา

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า การเสริมสร้างขวัญกำลังใจบุคลากร ทั้งสวัสดิการ ความเป็นอยู่ และการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สิน จะช่วยให้บุคลากรมีความสบายใจ รู้สึกมั่นคงและมีความสุขในการปฏิบัติหน้าที่ ส่งผลให้ปฏิบัติงานดูแลพี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มศักยภาพ สามารถขับเคลื่อนกระทรวงสาธารณสุขไปสู่เป้าหมาย “องค์กรแห่งความสุข” ได้อย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน