จิตแพทย์ ชี้เหตุ ชายคลั่งคว้ามีดดาบไล่หน้าโรงเรียน จัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยติดยาเรื้อรัง-เป็นซ้ำ ชี้การบำบัดครั้งต่อไป ต้องเข้มข้นขึ้น

8 ธ.ค. 66 – ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ชายคลั่งยาถือมีดดาบอาละวาดหน้าโรงเรียนพัฒนานิคมผัง 120 จ.สตูล เด็กและครูหนีตาย

โดยพบว่าชายรายดังกล่าวมีประวัติการเสพยาบ้าและเคยเข้ารับการบำบัดมาแล้ว ว่า กรมสุขภาพจิตได้จัดกลุ่มสีผู้ป่วยจิตเวชและผู้ใช้ยาเสพติดออกเป็น 4 สี

ได้แก่ สีแดง ซึ่งจะมีพฤติกรรมการทำร้ายผู้อื่นชัดเจน, สีส้ม มีอาการนอนไม่หลับหรือพูดจาเพ้อเจ้อ แต่ยังไม่ถึงขั้นทำร้ายใคร สีเหลือง มีประวัติทางยาเสพติด ซึ่งจะต้องให้พื้นที่ใกล้เคียง เช่นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เฝ้าระวังหากมีโอกาสที่โรคจะรุนแรงขึ้น และ สีเขียว กลุ่มที่สามารถกลับสู่ชุมชนได้

นพ.พงศ์เกษมกล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยยาเสพติดนั้นจัดอยู่ในกลุ่มประเภทผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังและสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ ซึ่งการที่จะให้ผู้ป่วยหายได้ถาวรก็มีหลายวิธี เช่น แรงจูงใจในการไม่กลับไปใช้ยาเสพติด การสร้างเป้าหมายที่จะทำในชีวิต และการประกอบอาชีพให้เขามีรายได้มีคุณค่าในตัวเอง

“ต้องยอมรับว่าในการรักษาบางรายก็ไม่ได้หายขาดซะทีเดียว ยังกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ฉะนั้นการฟื้นฟูทางครอบครัวและสังคม จะต้องช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งในการติดตามและฟื้นฟูผู้ป่วย” นพ.พงศ์เกษมกล่าว








Advertisement

นพ.พงศ์เกษมกล่าวต่อว่า ในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (Serious Mental Illness with High Risk to Violence: SMI-V) ซึ่งท่านปลัดสธ. มอบหมายแล้วว่าในกลุ่มนี้จะต้องมีการเข้าบำบัดรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช หรือโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปในแต่ละจังหวัด

ขณะที่ กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการจิตเวชรองลงมา เช่น นอนไม่หลับ เดินไปมา ก็จะมีหน่วยดูแลที่ลดหลั่นลงมา คือ มินิธัญญาลักษณ์ ซึ่งจะพัฒนาจากโรงพยาบาลชุมชนที่มีศักยภาพสูง เพื่อให้เกิดการเข้าถึงการรักษาได้ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลจิตเวชมากที่สุด

“หากเราสามารถดีท็อกซ์นำสารพิษออกจากเขาได้ อาการดีขึ้น ก็จะเข้าไปสู่การดูแลในชุมชน ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ที่มีนายอำเภอเป็นประธาน ซึ่งทางปลัดสธ. และท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย จะหารือกันอีกทีเพื่อสร้างบริการนี้ขึ้นมา” นพ.พงศ์เกษมกล่าว

เมื่อถามว่าเมื่อเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นทำให้คนรู้สึกกลัวผู้ที่เคยบำบัดยาเสพติดมาแล้ว นพ.พงศ์เกษมกล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่ติดยามักมีสุขภาพจิตที่ค่อนข้างอ่อนแอ ไม่มีเป้าหมายชีวิตก็จะไปใช้ยาเสพติด ทำให้สมองถูกกระทบกระเทือน ส่งผลไปถึงสุขภาพจิต

เมื่อถามว่าผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการบำบัดแล้วออกมาสู่ชุมชน แต่กลับมีพฤติกรรมเสพยาหรือมีอาการทางจิตเวชซ้ำ กระบวนการบำบัดครั้งต่อไปจะเป็นอย่างไร นพ.พงศ์เกษมกล่าวว่า ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลในระดับที่เข้มข้นขึ้น ทั้งเรื่องของยาที่ใช้ วิธีการบำบัดไปจนถึงระยะเวลาการบำบัด ซึ่งทั้งหมดนี้จะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน