เสียงสะท้อน คนริมโขง ผู้นำท้องถิ่นน้อยใจ รัฐไม่เคยฟังเสียงชาวบ้าน พื้นที่เกษตรนับพันไร่ได้รับผลกระทบ จีนยันไม่ได้ทำน้ำแล้ง

ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย จัดงาน “ฮอมปอย ศรัทธาแม่น้ำโขง” เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา งานเริ่มตั้งแต่เช้าด้วยพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้นักป้องป้องแม่น้ำโขงที่เสียชีวิต หลังจากนั้นมีอ่านบทกวี และศิลปะการแสดงสดเพื่อรำลึกถึง อุ้ยเสาร์ ระวังศรี ,อ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น ,จิตติมา ผลเสวก และ ไพศาล เปลี่ยนบางช้าง

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการออกร้านผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น โดยมีผู้ร่วมงานหลายกลุ่ม นอกชาวบ้านลุ่มน้ำโขงทั้งในภาคเหนือและภาคอีสานแล้ว ยังมีชาวบ้านจากเครือข่ายต่างๆ เช่น แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำยม นอกจากนี้ยังมีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตัวแทนสถานเอกอัครราชทูต นักวิชาการ ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ สื่อมวลชน ฯลฯ

ศิลปะการแสดงสด ในงาน“ฮอมปอย ศรัทธาแม่น้ำโขง”

ในช่วงบ่ายมีการจัดเวทีเสวนา 2 เวที เวทีแรกเป็นเสียงสะท้อนสภาพปัญหาของแม่น้ำโขงจากชาวบ้านริมแม่น้ำโขง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่วนเวทีสองเป็นคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนักวิชาการ ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

หวั่นผลกระทบน้ำเท้อ

เวทีแรก นายทองสุข อินทะวงศ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย กล่าวว่า พยายามตั้งคำถาม แสดงความเห็น และคัดค้านการสร้างเขื่อนปากแบงในลาว เพราะหวั่นเกรงอุบัติภัยในอนาคต เรื่องใหญ่สุดคือน้ำเท้อ (ปรากฎการณ์น้ำย้อนไหลกลับ) ที่บ้านห้วยลึก จะได้รับผลกระทบเป็นหมู่บ้านแรก และอาจยาวมาถึง อ.เชียงของ คนเชียงของมีที่ดินมรดกบรรพบุรุษแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ

หากเกิดน้ำเท้อขึ้นมาอาจมีปัญหาเรื่องค่าชดเชย ขณะที่การหาปลาที่เคยอุดมสมบูรณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป จนถึงขณะนี้ไม่มีใครกล้าลงทุนเติมน้ำมันเรือไปหาปลาเพราะไม่ได้ปลา ทำให้ครอบครัวอาชีพประมงต้องลำบาก บ้านแตกสาแหรกขาดเพราะพ่อแม่ต้องเข้าไปหางานทำในเมือง ลูกๆต้องอยู่กับตายาย กลายเป็นวิบากกรรมจากการพัฒนาโดยฝีมือมนุษย์








Advertisement

“เราเคยทำงานวิจัยเรื่องเกาะแก่งแม่น้ำโขงร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อุปกรณ์หาปลาต้องเอาทิ้งหมดเพราะหากินไม่ได้ เช่น แหถี่ใช้ไม่ได้ ผมกังวลมากหากสร้างเขื่อนและเกิดน้ำเท้อ บ้านห้วยลึกสูง 315 เมตร จากระดับน้ำทะเล แต่ทางกรมทรัพยากรน้ำบอกน้ำเท้ออยู่ระดับ 340 เมตร

ดังนั้นน้ำจึงท่วมแน่ๆ แม้เราต่อสู้แล้วไม่ชนะ แต่เราเป็นพลังกลุ่มบริสุทธิ์ เราไม่ได้คัดค้านหรือต่อต้านถึงขั้นปะทะ แต่พูดด้วยเหตุผลว่าก่อนทำ ทำไมไม่ดูผลกระทบก่อนว่าคุ้มค่าหรือไม่ ไม่ใช่โยนไปโยนมา ตอนนี้เห็นตั้งงบประมาณไว้ 46 ล้านบาท มันกี่หมู่บ้าน ดีใจที่เห็นรองอธิบดีกรมสนธิสัญญาไปที่บ้านผม ท่านพูดเรื่องทางบก แต่เราอยากพูดเรื่องทางน้ำด้วย”นายทองสุขกล่าว

เสียงสะท้อนสภาพปัญหาของแม่น้ำโขงจากชาวบ้านริมแม่น้ำโขง

นายทองสุขกล่าวอีกว่า หากมีเขื่อนปากแบง เมืองมีน้ำเท้อ เกาะแก่งก็หายไป ซึ่งน่าห่วง อยากเรียกร้องเรื่องการดูแลสิทธิชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องเขื่อน ไม่แน่ใจว่าบริษัทได้จ้างคนมาสำรวจความเสียหายจำนวนกี่ไร่เพื่อชดเชยค่าเสียหายหรือไม่ ชาวบ้านถามไปแล้วเงียบและปล่อยให้สร้าง ต้องยืนยันให้ได้ว่าพื้นที่ติดริมน้ำเสียหายเท่าไหร่ จะจ่ายค่าชดเชยกันอีกกี่ปี

“เมื่อก่อนเขาบอกว่าถ้ามีผลกระทบจะทำลายเขื่อน มันเรื่องจริงเหรอ ผมอยากให้ปิดกระบอกเสียงนี้ก่อน ความเจริญที่เข้ามาทำลายหลายอย่าง ผมต่อสู้เรื่องนี้มา 25 ปี” อดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยลึกกล่าว

ผู้ใหญ่บ้านสะท้อน ไม่ฟังเสียงชาวบ้าน

นายมานพ มณีรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านปากอิงใต้ อ.เวียงแก่น กล่าวว่า สอบถามทางการไปแล้ว แต่ได้รับคำตอบว่าการสำรวจยังไม่แล้วเสร็จ แต่กลับไปลงนามในสัญญาสร้างเขื่อนกันก่อน บริษัททำเพื่ออะไร สิ่งเหล่านี้ประชาชนพยายามพูดหลายเวทีแต่เสียงไม่ดังพอ เป็นเรื่องที่น่าน้อยใจเพราะคนเชียงของเป็นคนไทยเหมือนกัน แต่ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็น และว่าการที่ต้องการพลังงาน ชาวบ้านเข้าใจ

แต่ก่อนสร้างทำไมไม่ศึกษา ที่ดินหลายแปลงไม่มีเอกสารสิทธิ หากน้ำท่วมผืนดินเหล่านี้หายไปแล้วใครรับผิดชอบ ได้เตรียมการรองรับหรือไม่ ชาวบ้านจะไปทำกินที่ไหน เคยถามว่าหน่วยไหนเป็นหน่วยงงานหลักเกี่ยวกับการกำหนดขั้นตอนการเยียวยา ก็ตอบไม่ได้

“อยากฝากเสียงเล็กๆของชาวบ้านไปถึงผู้บริหาร พูดไปเราก็รู้สึกสะเทือนใจเหมือนเราถูกทอดทิ้ง เหมือนเราไม่มีตัวตน เราไม่รู้จะหาคำพูดใหนๆมาทดแทนความสูญเสีย แต่คนที่ได้ประโยชน์เพียงไม่กี่คน”นายมานพ กล่าว

นายอภิธาร ทิพย์ตา นายกเทศมนตรีเทศบาลม่วงยาย อ.เวียงแก่น กล่าวว่า แม่น้ำงาวไหลผ่าน อ.เวียงแก่น เกาะแก่งผาไดจะอยู่ใต้น้ำทั้งหมด เมื่อเกิดน้ำท่วมจะทำให้น้ำเท้อมาถึง อ.เชียงของแน่ๆ เพราะบริเวณผาไดเป็นคอขวด และสวนส้มโอบริเวณน้ำงาวต้องถูกน้ำท่วมแน่ๆ

ยิ่งถ้ามีเขื่อนยิ่งทำให้น้ำไหลช้า พืชเศรษฐกิจของเวียงแก่นมี 2 พันไร่ ถ้าเกิดน้ำท่วมน้ำขังเสียหายไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี เทศบาลรู้สึกกังวลมากว่าทำให้เศรษฐกิจสูญเสียไปเท่าไหร่ ตอนนี้ชาวบ้านยังทราบข่าวไม่มาก เพราะเพิ่งได้ข้อมูล ถ้าชาวบ้านทราบก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

นายอภิธาร กล่าวแสดงความกังวลว่า หากมีเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงอีก วิถีชีวิตของคนพื้นเมือง รวมไปถึงพันธุ์ปลาจะเปลี่ยนไปโดยไม่สามารถกู้คืนมาได้ นี่ไม่นับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ลาว ทั้งเรื่องวัฒนธรรมต่างๆ เรื่องกีฬา และการค้าขายชายแดนนั้นจะเปลี่ยนไป

นางปรีดา คงแป้น กสม. กล่าวว่า ชาวบ้านมีสิทธิเต็มที่ในการเรียกร้องและปกป้องสิทธิของตัวเองและชุมชนซึ่งอยู่ร่วมกันมาเป็นร้อยๆปีโดยมีรัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครอง ชาวบ้านไม่รู้เรื่องมาก่อนเลยแต่จู่ๆเอกชนไทยไปเซ็นสัญญากันไว้แล้วส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของประชาชน รัฐจึงสอบไม่ผ่านเรื่องนี้

จึงมีหนังสือด่วนถึงนายกรัฐมนตรี 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขอให้ทบทวนการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เพราะเรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ กสม.อย่างรอบด้าน ประเด็นสำคัญที่ท้วงติงคือชาวบ้านยังไม่รับรู้ข้อมูลและมีการศึกษาพบว่าน้ำท่วมนับ 10 หมู่บ้าน แต่รัฐบาลจะหยุดหรือไม่ก็ต้องร่วมกันตรวจสอบ

‘วิโรจน์’กังวลผลกระทบวงกว้าง

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ไม่เพียงผลกระทบปฐมภูมิ แต่จริงๆแล้วยังมีผลกระทบทุติยภูมิในวงกว้างออกไป หากไม่คำนึงถึงตรงนี้ ประเมินผลการศึกษาความคุ้มค่าไม่รอบด้าน ถามว่าโครงการนี้จะคุ้มค่าหรือไม่

ส่วนการประเมินความคุ้มค่าไฟฟ้า หลายคนกังวลว่าระหว่างสร้างเขื่อน 7-8 ปี ความเป็นจริงจะตรงข้ามกับในกระดาษโดยเฉพาะแผนพลังงานชาติที่จะครบปีหน้ ทำไมถึงไม่รอตอนนั้น การสำรองไฟฟ้ามากเกินไปส่งผลต่อราคาค่าไฟฟ้า ถ้าโครงการไม่คุ้มค่าไม่คุ้มทุน ใครจะรับผิดชอบ

“ที่สำคัญสุดคือข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนได้รับ และการประเมินไม่ใช่แค่ปฐมภูมิ ถ้าคุณจำกัดเอาเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเท่ากับคุณปั้นตัวเลขให้ต่ำกว่าความเป็นจริง คุณจงใจให้โครงการนี้คุ้มทุนไว้ก่อน เราจะร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ต่อไป”นายวิโรจน์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้มั้ยยกเลือกสัญญาซื้อไฟฟ้า นายวิโรจน์ กล่าวว่า ต้องเอาข้อเท็จจริงที่ปรากฏไปทำให้นายกรัฐมนตรีรับทราบและจะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ นอกจากนี้ยังต้องช่วยกันติดตามแผนพลังงานชาติ และเขื่อนปากแบงว่าสอดคล้องกับแผนหรือไม่

หากมีการปลดระวางก็ต้องตั้งคำถามกับโรงไฟฟ้าที่หมดอายุและต่ออายุ เรื่องนี้ต้องนำไปสู่การอภิปรายในสภาหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยซ้ำ เรื่องนี้ไม่ใช่กระทบแค่คนเชียงของแต่กระทบกับคนทั้งประเทศ ทุกวันนี้ทุกคนยังต้องผัดผ่อนหนี้ค่าไฟฟ้าซึ่งไม่จีรัง

“อยากให้ใช้กลไก ป.ป.ช.และ สตง.ด้วย นอกจาก กสม. อะไรที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ถ้าดึงเอาแนวร่วมองค์กรอิสระเข้ามาสื่อสาร จะทำให้มีน้ำหนัก ส่วนในสภา เราจะดำเนินการอยู่แล้ว เป็นแม่น้ำ 4 สาย หากนายกฯไม่ทบทวนก็อาจถูกข้อหาละเว้นปฎิบัติหน้าที่ อย่างน้อยให้ประชาชนสิ้นข้อสงสัยหากจะทำจริงๆ”นายวิโรจน์ กล่าว

ผู้แทนสถานทูตจีนแจงวิสัยทัศน์แม่น้ำโขงให้ชุมชนริมโขง เผย 5 ประเทศร่วมดื่มน้ำสายเดียวกัน ศ.สุริชัยชี้ความโปร่งใสในการสร้างเขื่อนไม่มีจริง สส.ก้าวไกลถามหามาตรฐานอีไอเอ

ขณะที่ในงานเสวนา “ภูมิรัฐศาสตร์แม่น้ำโขง” มี ศาสตราจารย์กิตติคุณสุริชัย หวันแก้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นางหลี่ จิ้น เจียง ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ,นายศุภโชติ ไชยสัจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โดยมี น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ดำเนินรายการ

โดยทางผู้จัดงานเชิญสถานเอกอัครราชทูตอเมริกา ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย เข้าร่วมฟังเสียงสะท้อนของชาวบ้านริมแม่น้ำโขงด้วย โดยสถานทูตอเมริกันและออสเตรเลียยืนยันว่าจะส่งผู้แทนเข้าร่วมงาน แต่เมื่อถึงเวลากลับไม่มีผู้แทนมาร่วม

ผู้แทนจีนยัน ไม่ได้ทำแม่น้ำโขงแล้ง

นางหลี่ จิ้เจียง ผู้แทนสถานทูตจีนประจำประเทศไทย ที่ปรึกษาด้านการเมือง กล่าวว่าในฐานะที่เป็น ผู้แทนสถานทูตจีนเพียงคนเดียวบนเวทีเสวนานี้ อยากพูดถึง วิสัยทัศน์ในการทำงานของจีน ตั้งแต่ต้นน้ำโขงในจีนเรียกว่าแม่น้ำล้านช้าง จีนกับ 5 ประเทศลุ่มน้ำโขงร่วมดื่มน้ำสายเดียวกัน มีความเชื่อมโยงเป็นเพื่อนมิตรที่ดี

งานเสวนา “ภูมิรัฐศาสตร์แม่น้ำโขง”

“ปี 2559 ได้มีการเปิดตัวความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (Lancang Mekong Cooperation หรือ LMC) วานนี้รัฐมนตรี 6ประเทศ ร่วมประชุมกันที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งจะมีความร่วมมือกันมากมาย ในฐานะที่มีกลไกร่วมหารือ พัฒนาแบ่งปันกัน ได้รับความร่วมมืออย่างดี

ปีที่แล้ว มูลค่าการค้ากับจีน 510.17 แสนล้านดอลาร์ เพิ่มเป็น 2 เท่าจาก 7 ปีก่อน เทศกาลผลไม้ในลุ่มประเทศน้ำโขง มีการนำเข้าทุเรียน รังนก ลำไย มะพร้าวสดเข้าจีน” ผู้แทนทูตจีนประจำประเทศไทยกล่าว

นางหลี่ กล่าวอีกว่า กลไกด้านเกษตร มีการนำเข้าฝึกอบรมความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรกว่า 1พันคน ช่วยยกระดับด้านเกษตรแก่ประชาชน โดยไทยเป็นผู้ริเริ่ม LMC และจะเข้ารับตำแหน่งประธาน LMC ในอนาคตด้วย

“มีการอนุมัติกว่า 70 โครงการ มูลค่า 20 ล้านดอลล่าร์ ผ่านโครงการต่างๆของไทย LMC คือการพัฒนา สำหรับจีนการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ยกระดับชีวิตประชาชนคือความเร่งด่วนในปัจจุบัน สุดท้ายนี้ขออวยพรให้อนาคตลุ่มประเทศน้ำโขงมีอนาคตที่สดใส เชื่อว่าภายใต้ความร่วมมือ แม่น้ำ Mother River จะสดใส เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาชน

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับเขื่อนบนแม่น้ำโขง และเรื่องภัยแล้ง มีข่าวที่โทษจีนว่าเขื่อนบนแม่น้ำลานชางทำให้เกิดภัยแล้ง รัฐบาลจีนให้ความสำคัญเกี่ยวกับความคิดเห็นของเพื่อนมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง ทางจีนส่งผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมาร่วมกันศึกษาด้วยกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) เพื่อหาหลักฐานว่า เป็นผู้ก่อภัยแล้งให้ปลายน้ำไม่ใช่จีน

ปริมาณน้ำโขงในส่วนล้านช้าง มี 13.5 % ที่แชร์กับแม่น้ำโขงตอนล่าง พื้นที่บริเวณของแม่น้ำล้านช้าง คือ 20 % ปีที่เกิดภัยแล้ง ที่จีนในยูนนานที่น้ำโขงไหลผ่านก็เกิดภัยแล้งเหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ มีการติดตั้งสถานีวัดน้ำที่ท้ายน้ำในแม่น้ำโขง

เราแบ่งปันข้อมูลน้ำกับประเทศตอนล่าง รวมทั้งความพยามรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศต่าง ตอนนี้เขื่อนของเรามีการปล่อยน้ำในฤดูแล้ง เก็บน้ำในฤดูฝน ฟังทุกท่านแล้วคิดว่า รู้สึกว่า เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ต้องแก้ไขปัญหาด้วย แบ่งปันข้อมูลกัน เราต่างดื่มกินแม่น้ำสายเดียวกัน นางหลี่ กล่าว

อ.จุฬา ชี้สร้างเขื่อนกระทบชาวบ้าน

ด้าน ศาสตราจารย์กิตติคุณสุริชัย หวันแก้ว จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม่น้ำโขงมีความหมายสำหรับคนพื้นที่ แต่ถ้าคนกรุงเทพฯ แล้วแม่น้ำโขงอยู่ไกลมาก

“ดังนั้นความรู้สึกรู้สากับแม่น้ำโขง จะต้องถามไถ่คนที่ผูกพันกับคนใกล้แม่น้ำให้มากขึ้น แต่ที่ผ่านมาการสร้างเขื่อนไม่ได้ถามไถ่คนใกล้แม่น้ำเลย เวลาเขาทำสัญญาก็เป็นสัญญาที่คนพื้นที่ไม่ได้รู้ ไม่ได้อ่านด้วยเลย มันสะท้อนใจมากว่าการตัดสินใจเรื่องการสร้างเขื่อนกับคน ที่ได้รับผลกระทบ ในโครงสร้างอำนาจ มันไกลกันเหลือเกิน กว่าจะได้ยินเสียง มันต้องใช้หลายช่องทางมาก

ผมสะท้อนใจเวลาได้ฟังจากชาวบ้านว่ามันกระทบมาก ทั้งทางตรงทางอ้อม เราศึกษากันยังไง ถ้ากระทบใครจะดูแลกระบวนการ ผลกระทบบ้าง คนรับผิดรับชอบไม่มี มีแต่การสร้าง ทำสัญญา และอ้างแต่ข้อมูลว่าประเทศเราต้องการไฟฟ้า

ปัจจุบันการสร้างเขื่อน ประเทศไหนสร้างก็เป็นอธิปไตยประเทศนั้น กลายเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศแบ่งเป็นเสี้ยวๆ แต่ผลกระทบมันกว้างไกลเกินกว่าประเทศนั้นจะดูแล” ศาสตราจารย์กิตติคุณสุริชัย กล่าว

อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวอีกว่า เกิดคำถามที่ผู้แทนทูตจีนพูดว่าใครจะตรวจสอบการตัดสินใจพัฒนาเหล่านี้ ว่ามีความยุติธรรมไหม มันไม่มีความชัดเจนและไม่ยุติธรรม วันนี้เราได้ยินกับหูว่าความโปร่งใสเรื่องสร้างเขื่อนปากแบงมันไม่มีจริง และการซื้อพลังงานทั้งที่เรามีพลังงานสำรองถึง 69%

“เมื่อรับผิดชอบไม่ได้ก็ผลักภาระไปสู่อนาคต กลายเป็นว่าเราจะสร้างระบบที่ตรวจสอบร่วมกันไม่ได้ ภาคประชาสังคมผู้ได้รับผลกระทบ ถ้าเรารู้สึกว่าแม่น้ำเป็นของเราทุกคนมันไกลกว่าอธิปไตยของใครของมัน ในความรับผิดชอบของความเป็นมนุษย์ มันต้องกว้างกว่านั้น กว้างกว่าระดับรัฐบาล พี่น้องข้ามพรมแดนได้แลกเปลี่ยนกัน ผ่านสังคมออนไลน์ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง” อ.สุริชัย กล่าว

อ.สุริชัย กล่าวว่า มีการประชุมเอ็มอาร์ซีครั้งหนึ่งที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รัฐมนตรีจากจีนมาประชุมด้วย จนมีการตอบสนองข้อมูลจากเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนในจีน เป็นครั้งแรกที่จีนได้แสดงท่าทีที่เป็นประโยชน์ในการแชร์ข้อมูล ให้คนแม่น้ำโขงตอนล่าง หลักอธิปไตยเป็นเรื่องหนึ่ง

“เพราะให้แต่รัฐบาลตัดสินใจ ชาวบ้านไม่มีส่วนตัดสินใจเลย การแชร์ข้อมูลจึงไม่เกิดขึ้น แต่ปัจจุบันมีออนไลน์ เราสื่อสารได้หลากหลายมาก เราจะแก้ปัญหาข้อมูลที่ล่าช้ายังไง ชาวบ้านจะยังรอคอยแบบน้ำตาไหลน้อยอกน้อยใจอีกไหม

การสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบการตัดสินใจของประเทศลุ่มโขงสำคัญมากกว่าอธิปไตยของแต่ละประเทศ ระบบ MRC-LMC ต้องช่วยรองรับกลไกนี้ ภูมิรัฐศาสตร์ปัจจุบันมีจุดอ่อนสำคัญ ไม่ให้ความสนใจต่อความเสื่อมสลายของระบบนิเวศน์ และให้อำนาจกับเมืองหลวงในการตัดสินใจ ผลประโยชน์ของประเทศ กับผลประโยชน์ของประชาชน น่าจะรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” ศาสตราจารย์กิตติคุณสุริชัย กล่าว

ส.ส.ก้าวไกล ตั้งคำถาม มาตรฐาน EIA

ด้าน นายศุภโชติ ไชยสัจ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ได้ฟังความคิดเห็นของชาวบ้านแล้วมีความเห็นในทางเดียวกัน

“เราคิดเห็นแนวเดียวกันกับชาวบ้านว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนมีมากขึ้นอย่างไรแล้วจะทำอย่างไรต่อ ถ้าEIA ชี้ให้เห็นว่าไม่ผ่าน เขื่อนจะไม่ถูกสร้างหรือไม่ คำถามคือกระบวนการทำ EIA มาตรฐานในการจัดทำคืออะไร ถ้ากำหนดนโยบายระยะยาว มันสอดคล้องกับมาตรฐานระดับนานาชาติแค่ไหน

ดังนั้นถ้าเราทำประเมินผลกระทบอย่างครอบคลุมทั้งแม่น้ำสายหลัก สายรอง ไปจนถึงอัตราค่าไฟต้นทุนพลังงาน สัญญาแบบ Take or Pay ไทยเรามีรูปแบบสัญญาซื้อไฟฟ้าที่แปลก คือไม่ว่าต้นทุนจะต่ำลงเพียงใด ไฟฟ้าที่ซื้อมาใช้หรือไม่ใช้รัฐจ่ายเงินทุกกรณี เราจะต้องจ่ายในอัตราที่สัญญากำหนด จึงเป็นเรื่องที่ต้องทบทวน ดังนั้นการศึกษาผลกระทบอย่างครอบคลุมเพียงพอจึงสำคัญต่อการสร้างเขื่อน” นายศุภโชติ กล่าว

ส.ส.ก้าวไกล กล่าวอีกว่า พรรคก้าวไกลมีกรรมาธิการ พัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษาผลกระทบครอบคลุม เราจะเชิญสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ปปช. เราจะรอดูว่านายกรัฐมนตรีจะมีแอคชั่นอย่างไรต่อ ถ้านิ่งเฉยก็จะถือว่าจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 187

ในขณะที่ ศาสตราจารย์ ฟิลิปส์ เฮิร์ช จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า ถ้ามองกลับไปยาวๆ การเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงหลายร้อยปีเราคาดการณ์ได้ แค่ปัจจุบันเราไม่รู้แล้วว่าระดับน้ำขึ้นลงเป็นอย่างไร

“เราได้ยินผลกระทบจากเขื่อนมาตลอด การเปลี่ยนแปลงเกิดตลอดทั้งลุ่มน้ำ ไม่ได้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เราได้ยินปัญหาเรื่องประเมินผลกระทบ จากการมีส่วนร่วม ใช้ข้อมูลน้อยมาก ดังนั้น ทำอย่างไรให้กระบวนการศึกษาผลกระทบรอบด้านจริงๆ โดยเฉพาะประเด็นความจำเป็นด้านพลังงานของไทย”

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน