DGA นำร่องอปท.กว่า 700 แห่ง ประสานร่วมมือหน่วยงานรัฐ
ดันรัฐบาลดิจิทัล ตั้งเป้าอันดับ 2 แห่งอาเซียน ไต่ดัชนี “รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์”

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ DGA (Digital Government Development Agency) หน่วยงานกลางส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

ล่าสุด ขับเคลื่อนภารกิจ “รัฐบาลดิจิทัล” เต็มสูบ รวบบริการภาครัฐกว่า 134 บริการ มาใส่ไว้ในแอป “ทางรัฐ” ให้บริการตรวจเช็ค อัพเดทฐานข้อมูลไลฟ์สไตล์ส่วนบุคคล และสวัสดิการรัฐแก่ประชาชนชาวไทยอย่างทั่วถึง ทุกช่วงวัย เพียงปลายนิ้วคลิก ไม่ต้องรอคิว นำร่องอบรมบุคลากรองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 700 แห่ง พร้อมจับมือหน่วยงานรัฐอีกกว่า 300 กรม เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่แบบเชิงรุก ตั้งเป้าอีก 4 ปีไต่ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สู่อันดับที่ 2 ของอาเซียน เพิ่มความโปร่งใส น่าเชื่อถือ สร้างอำนาจการแข่งขันให้ประเทศ

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า หน้าที่ของ DGA คือการส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรของรัฐปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง สะดวกรวดเร็ว เชื่อมโยงข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้อย่างเต็มรูปแบบ ปัจจุบัน DGA ทำงานกับภาครัฐมากกว่า 300 กรม ภายใต้ 19 กระทรวง กับ 1 สำนักนายก บวกกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 7,800 กว่าแห่ง

ที่ผ่านมา DGA มีการดำเนินงานไปแล้วในหลายส่วน แบ่งออกเป็นการพัฒนาระบบงานภาครัฐและระบบงานฝั่งธุรกิจ ได้แก่ 1.การพัฒนาระบบงานกลางเชื่อมโยงบริการงานภาครัฐ (Government to citizen service) ผ่าน ‘แอปพลิเคชั่นทางรัฐ’ ที่รวบรวมบริการของหน่วยงานภาครัฐที่มีมากกว่า 134 บริการ มาใส่ไว้ในแอปฯ เดียว เพื่อเพิ่มความสะดวก ลดความยุ่งยากให้ประชาชน 2.จัดทำข้อมูลเปิดของภาครัฐ โดยให้หน่วยงานภาครัฐนำข้อมูลเปิดมาขึ้นบนเว็บไซต์ data.go.th เพื่อให้ประชาชนสามารถค้นหาและเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการอย่างสะดวก รวดเร็ว โดยปัจจุบันมีชุดข้อมูลบนเว็บไซต์กว่า 10,000 ชุดข้อมูลและมีผู้เข้ามาใช้งานเกือบ 4 ล้านคน มีการใช้งานแล้วมากกว่า 14 ล้านครั้ง

ส่วนระบบงานฝั่งธุรกิจ หรือเรียกว่าบริการระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) จะเป็นการรวบรวมการขอใบอนุญาตต่างๆ ของภาคธุรกิจจากภาครัฐ เช่น การเปิดร้านอาหาร การขอมิเตอร์น้ำ ไฟ ขออนุญาตขายเครื่องดื่ม รวมถึงสาธารณูปโภคต่างๆ แทนที่จะเดินทางติดต่อไปทีละหน่วยงาน ก็สามารถยื่นขออนุญาตออนไลน์ สามารถดำเนินการขอใบอนุญาตผ่านทางออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ bizportal.go.th ที่จะลดขั้นตอน ลดระยะเวลา และสะดวกกับผู้ประกอบการ ทุกอย่างทำได้ที่เว็บไซต์เดียว

เป้าหมายของ DGA ในการพาประเทศไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล มีอยู่ 3 เรื่องหลัก ได้แก่ ประการที่หนึ่ง คือ การบริการใบอนุญาตต่างๆ จากภาครัฐต้องสามารถทำออนไลน์ได้ เผื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เรียกบริการนี้ว่า E-Service ประการที่สอง คือ การส่งเสริมการจัดเก็บข้อมูลภาครัฐให้เป็นดิจิทัล ประการที่สาม คือ ภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนบุคลากรให้มีความรู้เรื่องดิจิทัล

“อย่างเรื่องการให้บริการใบอนุญาตออนไลน์ต่างๆ ถามว่ายากไหม ก็ยากอยู่ เพราะมีการสำรวจแล้วพบว่ามีอยู่ประมาณ 3,000 กว่าราย ตอนนี้สามารถทำออนไลน์ไปแล้วกว่า 2 พันรายการแล้ว แต่ตัวเลขนี้ก็ยังถือว่ายังไม่มาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องขับเคลื่อนต่อไป”

การขับเคลื่อนระบบท้องถิ่นดิจิทัล (Digital Government Platform) DGA ยังได้มีความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 7,000 แห่ง เพื่อให้การบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีการนำร่องไปกว่า 700 แห่งในการอบรมการใช้ระบบเพื่อให้เจ้าหน้าที่ปรับเปลี่ยนการทำงานจากการใช้กระดาษแบบเดิมๆ เข้าสู่ระบบดิจิทัล เพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวกต่อการให้บริการแก่ประชาชนชน อีกทั้งง่ายต่อการจัดเก็บ การใช้งาน โปร่งใส ตรวจสอบได้

“สิ่งที่เราเจอมักมีคำถามว่า ทำไมต้องเปลี่ยนวิธีทำงาน แต่ตัวผู้บริหารเองจากที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าในแต่ละวันประชาชนมาร้องเรียนหรือรับบริการอะไรบ้าง เมื่อใช้ระบบท้องถิ่นดิจิทัล ผู้บริหารท้องถิ่นสามารถเห็นการทำงานทันที ช่วงแรกคนทำงานอาจจะเหนื่อย แต่พอทำแล้วประชาชนแฮปปี้ ตรวจสอบได้ สุดท้ายคณะทำงานท้องถิ่นก็ได้รับเลือกตั้งใหม่เพราะผลงานเป็นที่ประจักษ์”

นอกจากนี้ DGA ยังได้มีการร่วมมือกับหน่วยงานรัฐต่างๆ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ในการจัดอบรมให้ความรู้การใช้ระบบ, การร่วมมือกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์กับอบต.ต่างๆ

สำหรับในปี 2567 ทาง DGA มีแผนเพิ่มบริการใน ‘แอปพลิเคชั่นทางรัฐ’ ให้มากขึ้น อาทิ เพิ่มบริการตรวจสอบภาษีที่ดินส่วนบุคคล รวมถึงการขยายฟีเจอร์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบแจ้งเตือน ระบบค้นหา ระบบแนะนำบริการ อีกทั้งในส่วน data.go.th จะมีการเพิ่มชุดข้อมูลสำคัญในแต่ละด้าน เช่น ด้านสาธารณสุขมีข้อมูลสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก เป็นต้น ด้านระบบท้องถิ่นดิจิทัลจะขยายผลฟีเจอร์รองรับบริการใหม่ๆ รวมถึงการนำเทคนิคใหม่ๆ และ AI เข้ามาช่วยใช้เกิดประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น

“เรายังต้องไปอีกไกล เพราะถ้าเปรียบเทียบในต่างประเทศ จะมีตัวชี้วัดหนึ่งเรียกว่า ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index (EGDI) ซึ่งปี 2563 ไทยเคยอยู่อันดับที่ 72 จาก 194 ประเทศ ขณะที่ในปี 2565 ไทยอยู่อันดับที่ 55 เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน และถ้าวัดการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-participation Index) ในปี 2563 ไทยอยู่ที่อันดับ 51 และในปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 18 ซึ่งกระโดดมาเยอะมาก”

“ปัจจัยที่ทำให้ไทยก้าวกระโดด มาจากตัวชี้วัด 3 ส่วน คือ การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และออนไลน์เซอร์วิส ไทยค่อนข้างปรับปรุงเรื่องโครงสร้างพื้นฐานได้ค่อนข้างดี ส่วนที่ปรับปรุงอย่างต่อเนื่องคือออนไลน์เซอร์วิส บวกกับงานที่เราทำร่วมกับภาครัฐที่กล่าวมาข้างต้นก็มีส่วนช่วยทำให้อันดับดีขึ้น”
ก้าวต่อไปเป้าหมายของ DGA ตั้งเป้าอีก 4 ปีข้างหน้าต้องได้อันดับที่ 40 หรืออันดับที่ 2 ของอาเซียน ซึ่งถือเป็นงานที่ท้าทายและต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน

“ถ้าในอาเซียนมีสิงคโปร์อันดับหนึ่ง ตามด้วยมาเลเซีย และไทย ถ้าไทยจะไปให้ถึงอันดับที่ 40 ตามเป้า ไทยจะเป็นที่สองของอาเซียน ซึ่งถ้ารัฐบาลดิจิทัลสำเร็จ จะช่วยลดภาระประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐให้ดีขึ้น มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ ประเทศก็จะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น”

สามารถติดต่อสอบถาม หรือดูรายละเอียดโครงการต่างๆ เพิ่มเติมกับทาง DGA ได้ที่ [email protected] หรือ 02-612-6060 / ดาวน์โหลดแอปทางรัฐได้ผ่านทาง Play Store และ AppStore

สำหรับผู้ประกอบการ บริการระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) สามารถเข้าใช้บริการได้ที่เว็บไซต์ https://bizportal.go.th

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน