UNFPA ร่วมส่งพลังใจการใช้ชีวิตที่เลือกเองได้ของคนพิการ ผ่านเรื่องราวของอัศวินหญิงนักฟันดาบชาวไทย “สายสุนีย์ จ๊ะนะ”
สายสุนีย์ จ๊ะนะ หรือ แวว ชาวไทยรู้จักเธอดีในฐานะนักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบทีมชาติไทย นักกีฬาหญิงผู้คว้าเหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์คนแรกของไทย ในปี 2004 กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีช
เธอได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอย่างยิ่งใหญ่ในการแข่งขันวีลแชร์ฟันดาบในรายการแข่งขันระดับนานาชาติ 2 รายการจากการแข่งขันฟันดาบ World แชมเปี้ยนชิพ (ชิงแชมป์โลก ) “IWAS Wheelchair Fencing World Championship 2023 ประเทศอิตาลี 1 เหรียญทองและ 1 เหรียญเงิน รวมถึงการแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ครั้งที่ 4 ประเทศจีน ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เธอได้คว้าอีก 1 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง ประเภทดาบเอเป้บุคคลหญิง คลาส B (รวม 6 เหรียญ)
“ปัจจุบันเธอเป็นมือหนึ่งของโลกและได้คว้าโควต้าเข้าร่วมพาราลิมปิกเกมส์ 2024 ที่ประเทศฝรั่งเศส เป็นที่เรียบร้อยแล้ว”







Advertisement
ล่าสุด เธอได้รับรางวัลนักกีฬาหญิงพิการดีเด่นแห่งชาติ ถ้วยพระราชทานฯ ในวันกีฬาแห่งชาติประจำปี 2566 อีกด้วย
นอกจากบทบาทการเป็นนักกีฬาแล้ว สายสุนีย์ยังมีบทบาทสำคัญในฐานะ UNFPA Advocate for Inclusive Population and Development เพื่อร่วมกันการรณรงค์การส่งเสริมสิทธิของคนพิการ รวมไปถึงการเข้าถึงสิทธิทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ (Sexual and Reproductive Health and Rights – SRHR) การยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศทุกรูปแบบ และสนับสนุนการพัฒนาตลอดช่วงวัยเพื่อเตรียมทุกกลุ่มประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ
สายสุนีย์ ผู้มีรอยยิ้มและแววตาที่สดใสมีพลังอยู่เสมอ เคยผ่านช่วงที่ทุกข์อย่างแสนสาหัสมาแล้ว เธอมิได้พิการมาตั้งแต่เกิด แต่เพราะอุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับเธอในช่วงเพิ่งเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน ทำให้เธอกลายเป็นคนพิการ จากที่เคยดูแลตนเองและเริ่มเลี้ยงดูครอบครัวได้ กลับต้องสูญเสียงานและโอกาสหลาย ๆ อย่างในชีวิตเพราะความพิการที่ทำให้เธอต้องใช้ชีวิตบนวีลแชร์มาจนถึงทุกวันนี้
สายสุนีย์ได้ปลุกพลังในตนเองขึ้นมา เพื่อออกจากความสิ้นหวัง แสวงหาโอกาสทางการศึกษาและอาชีพ จนในที่สุดเธอได้สมัครเข้าเรียนในศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการ ได้พัฒนาจนเองจนสามารถดูแลตนเองและมีอาชีพได้อีกครั้ง กับเส้นทางที่เธอเลือก ได้เปิดโอกาสพาเธอมาสู่การฝึกฝนเป็นนักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย เรียนจบปริญญาตรี และมีอาชีพที่มั่นคงในเครือบริษัทใหญ่ในทุกวันนี้
“สมัยก่อนสังคมไม่เปิดกว้าง ไม่ยอมรับคนพิการเลย…แต่ปัจจุบันสังคมเปิดกว้างให้เรื่องอาชีพแก่คนพิการมากขึ้น แต่ต้องรู้สิทธิและศักยภาพของตนเอง มีการรับคนพิการหญิงเข้าทำงานมากขึ้น ผู้หญิงพิการมีศักยภาพหลายด้าน สามารถเรียนจบถึงปริญญาตรี ปริญญาโท และบางคนสามารถสอบเข้าทำงานราชการได้ด้วย” สายสุนีย์กล่าว
ในมิติชีวิตครอบครัว คนพิการก็สามารถเลือกที่มีชีวิตครอบครัวในแบบที่ตนต้องการได้เช่นกัน สายสุนีย์เคยเผชิญกับความไม่เข้าใจของสังคมในสิทธิสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ของคนพิการ เธอเล่าให้ฟังว่า “ตอนไปฝากครรภ์ คุณหมอมองว่าพี่ไม่สามารถมีลูกได้ แต่เรามองว่าเป็นสิทธิของผู้หญิงคนหนึ่งที่จะมีลูก เรามีสิทธิที่จะเลือกว่าจะมีลูกหรือไม่มีก็ได้” และเธอจึงตัดสินใจที่เป็นแม่ ซึ่งทำให้เป็นคนพิการที่มีชีวิตครอบครัวแบบที่เธอต้องการได้ ไม่ต่างจากคนอื่น ๆ ในสังคม
“คนพิการที่อยากจะมีลูก เราสามารถมีลูกได้ แค่สำรวจตัวเองก่อนว่าพร้อมไหม อย่าให้ใครมากำหนดหรือมองว่าเราไม่สามารถมีลูกได้ สิทธิของเรา คือ ตัวเรา” สายสุนีย์กล่าวย้ำอย่างมั่นใจ
ในปี 2023 ที่กำลังจะผ่านไปในอีกไม่นาน สายสุนีย์ได้ร่วมแคมเปญเกี่ยวกับการไม่แบ่งแยกของคนพิการและการสนับสนุนส่งเสริมศักยภาพสตรีที่ UNFPA จัดขึ้น โดยสื่อสารเรื่องราวของเธอผ่านคลิปวิดิโอที่เผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อสร้างพลังใจสู่คนพิการและทุกคนให้ตระหนักถึงสิทธิและศักยภาพของตนเองในการที่จะเลือกชีวิตในแบบที่ตนต้องการ รวมถึงเรียกร้องให้เปิดกว้างและยอมรับคนพิการให้มีพื้นที่ในสังคมมากขึ้น
รับชมคลิปที่ https://youtu.be/Xqt2xNm2gHs?feature=shared
ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับ UNFPA
UNFPA เป็นหน่วยงานด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ของสหประชาชาติ ภายใต้ทีมงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ความร่วมมือของ UNFPA ในประเทศไทยสอดคล้องกับกรอบความร่วมมือการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (UNSDCF) พ.ศ.2565-2569 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ของประเทศไทย (พ.ศ.2566-2570) รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยการกำจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ และการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยประชากรและการพัฒนา (ICPD)
UNFPA มุ่งดำเนินงานโดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ประกอบด้วยหลัก 3 ประการ ดังนี้
1. พื้นที่การปฏิบัติงานเพื่อดำเนินนโยบายและครอบคลุมสำหรับวัยรุ่นและเยาวชนให้ได้รับความรู้และทักษะด้านสุขภาพและสิทธิทางเพศ รวมถึงสิทธิอนามัยการการเจริญพันธุ์โดยมุ่งเน้นวางแผนครอบครัวอย่างมีส่วนร่วมและติดตามพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 (AP Act)
2. ผลักดันนโยบายที่เข้มแข็งเพื่อป้องกันและยุติความรุนแรงด้วยหตุแห่งเพศในทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย
3. เพิ่มความเข้มแข็งนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมโดยใช้ข้อมูลและผลวิจัยเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของประชากรและกระแสหลักของโลกเข้าด้วยกัน รวมถึงอายุของประชากรและความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพื่อพัฒนาและติดตามนโยบายและแผนงานด้านประชากรอย่างยั่งยืน
อ่านแผนงานระดับประเทศฉบับเต็มได้ ที่นี่ หรือเอกสารแนะนำ UNFPA ประเทศไทย ที่นี่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน