นครราชสีมา ไข้หวัดใหญ่มาแรง ปี’66 ทั่วประเทศป่วย 4 แสน 6 หมื่นราย ปี’67 ระบาดหนักยอดป่วยยังเพิ่มไม่หยุด ยอดป่วยพุ่ง 8 สัปดาห์ย้อนหลัง ป่วย 6 พันกว่าราย แนะ ปชช.ดูแลสุขภาพ

7 ม.ค. 67 – กลุ่มระบาดวิทยาและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา รายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย

ล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 26 ธันวาคม 2566 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว 467,899 ราย อัตราป่วย 707.10 ต่อประชากรแสนคน โดยมีผู้เสียชีวิต 13 ราย เป็นผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 0-4 ปี และกลุ่มอายุ 7-9 ปี ตามลำดับ

ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นจากอิทธิพลของความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้มีอากาศเย็นในตอนกลางคืนและเช้า ส่วนตอนกลางวันอาการจะค่อนข้างร้อน ซึ่งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ มีผลทำให้เชื้อไวรัสอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน แพร่กระจายได้ง่ายและเร็วขึ้น

อีกทั้งทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลด โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และเด็กเล็ก จะมีความเสี่ยงสูง สามารถติดเชื้อได้ง่าย โดยรับเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศขณะที่ผู้ป่วยไอ จาม ในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น และเชื้อยังแพร่ผ่านการสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์ รถสาธารณะ เป็นต้น ความเสี่ยงการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่จึงเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว

ซึ่ง 4 จังหวัดในพื้นที่ดูแลของเขตสุขภาพที่ 9 ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา , ชัยภูมิ , บุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่น่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยรายงานล่าสุด พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 23 ธันวาคม 2566 มียอดผู้ป่วยสะสมมากถึง 58,430 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิต 3 ราย เป็นผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

ซึ่งสถานการณ์การระบาดของโรคในช่วง 8 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2566 ถึง 24 ธันวาคม 2566 หรือประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 10,808 ราย โดยพบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 5-9 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 0-4 ปี และกลุ่มอายุ 10-14 ปี ตามลำดับ

เมื่อจำแนกสถานการณ์ 8 สัปดาห์ย้อนหลังในแต่ละพื้นที่ พบว่า ช่วงวันที่ 29 ตุลาคม – 23 ธันวาคม 2566 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ จังหวัดนครราชสีมา พบผู้ป่วยมากถึง 6,043 ราย รองลงมาคือ จังหวัดสุรินทร์ 2,019 ราย , จังหวัดชัยภูมิ 1,645 ราย และจังหวัดบุรีรัมย์ 1,101 ราย

โดยอำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นอัตราป่วย 551.71 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ คิดเป็นอัตราป่วย 533.59 ต่อประชากรแสนคน และอำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา คิดเป็นอัตราป่วย 511.38 ต่อประชากรแสนคน

ซึ่งจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ปี พ.ศ. 2566 เมื่อเปรียบเทียบกับค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง (พ.ศ. 2561-2565) พบความผิดปกติของการเกิดโรคเนื่องจากมีผู้ป่วยมากกว่าค่ามัธยฐานตั้งแต่สัปดาห์ ที่ 6 คือในช่วง 1 มกราคม – 6 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นช่วงฤดูหนาว และมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่ 21 ช่วงวันที่ 21-27 พฤษภาคม ซึ่งเข้าฤดูฝนแล้ว และมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่สัปดาห์ที่ 39 ช่วงวันที่ 24-30 กันยายน 2566

จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังรักษาสุขภาพ ดูแลอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะประชาชนใน 7 กลุ่มเสี่ยง ที่ป่วยแล้วจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนและอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัว เด็กเล็ก เด็กวัยเรียน และผู้สูงอายุ ต้องดูแลสุขอนามัย รักษาความอบอุ่นร่างกาย และควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ปีละ 1 ครั้ง และในกรณีที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ ให้สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงไปในที่มีฝูงชนจำนวนมาก หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ

สำหรับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ นอกจากจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ไอ จาม มีน้ำมูก เจ็บคอ ตาแดง และหนาวสั่นแล้ว มักจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลียร่วมด้วย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เอง

แต่ในกลุ่มเสี่ยงหากรับประทานยาเบื้องต้นแล้วอาการรุนแรง ไม่ดีขึ้น ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยรักษาโดยเร็ว โดยหากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน