ข้าราชการประจำ กทม. ไม่เห็นด้วย ดันทุรังจ้าง เฮลิคอปเตอร์ ช่วยงานกู้ภัย 2 ลำ พร้อมนักบิน-อปก. สัญญา 3 ปี รวด 900 ล้าน ย้ำ ไม่คุ้ม ค่าใช้จ่ายสูง ใช้เงินเยอะ

รายงานข่าวจากศาลาว่าการ กทม. แจ้งว่า สืบเนื่องจากมีบริษัทเอกชน ประกอบกิจการด้านการบิน ได้ทำหนังสือถึง ผู้บริหาร กทม. ตั้งแต่เดือน ก.พ.2566 เพื่อเสนอโครงการให้เช่าอากาศยานปีกหมุนแบบ BELL412 (เฮลิคอปเตอร์) และพร้อมบุคลากร

เพื่อใช้ในงานป้องกันและบรรเทาสาธาณภัย อาจจะเป็นการบูรณาการ พัฒนาก้าวไปอีกขั้นของการปฏิบัติงานเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติต่างๆ ด้านทุกมิติ

สำหรับข้อเสนอของเอกชนการให้เช่าเฮลิคอปเตอร์ ประกอบด้วย เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ ใช้อากาศยานรวมได้ 60 ชั่วโมงต่อเดือน เฉลี่ยวันละ 2 ชม. พร้อมนักบิน 6 นาย ช่างเครื่อง 6 นาย เจ้าหน้าที่กู้ภัยประจำอากาศยาน 6 นาย รวมถึงอะไหล่ การซ่อมบำรุง การประกันภัย อุปกรณ์กู้ภัยประจำอากาศยาน

โดยเอกชนจะมีการจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของ สภป. เพื่อทำหน้าที่กู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว 110 นาย สามารถส่งมอบเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ นับจากมีการลงนามสัญญาภายใน 150 วัน กำหนดอายุสัญญา 3 ปี ขึ้นไป วงเงิน ค่าเช่า 150 ล้านบาทต่อปีต่อลำ รวมระยะเวลา 3 ปี เป็นเงิน 900 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า หลังจากได้รับหนังสือดังกล่าว ผู้บริหาร กทม. ได้ส่งเรื่องให้ นายขจิต ชัชวาณิชย์ ปลัดกทม. ขณะนั้น และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) พิจารณาตามลำดับ โดยปลัดได้มอบให้ นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัด ขณะนั้น พิจารณาและให้ความเห็นว่า

การใช้เฮลิคอปเตอร์ เพื่อปฏิบัติภารกิจกู้ภัยของ สปภ. ยังไม่มีความจำเป็นในการใช้อากาศยาน เพื่อปฏิบัติภารกิจด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขณะที่ สปภ.เห็นว่า การเช่าอากาศยาน มีค่าเช่าต่อ 1 หน่วยบิน ปีละ 150 ล้านบาท ไม่รวมค่าเชื้อเพลิง เป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ไม่เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร กทม. ได้สั่งการให้มีการทบทวนโครงการใหม่อีกครั้ง โดยให้ สปภ.ประสาน สำนักการโยธา (สนย.) สำรวจข้อมูลเฮลิคอปเตอร์ของหน่วยงานรัฐ และเอกชนในภารกิจความปลอดภัยอื่นๆ โดยรอบ รวมทั้งจุดที่สามารถจอดเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวได้บนอาคารหรือพื้นที่ของ กทม. มาประกอบการพิารณาอีกครั้ง ขณะนี้เรื่องดังกล่าวยังค้างอยู่ที่ สปภ. เนื่องจากตำแหน่ง ผอ.สปภ.ได้ว่างลง








Advertisement

รายงานข่าวแจ้งด้วย ข้าราชการฝ่ายประจำที่เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และไม่เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ ควรนำงบประมาณไปสนับสนุนด้านอื่นๆ เช่น เบี้ยเสี่ยงภัย ชุดดับเพลิง อุปกรณ์ดับเพลิง ที่พักอาศัย ปรับปรุงอาคารสำนัก เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่า เนื่องจากไม่ได้มีการจัดซื้อมานานแล้ว ชุดและอุปกรณ์ที่ใช้ในปัจจุบันเริ่มเสื่อมสภาพ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน